ชุมชนมุสลิมบ้านท่าตอน บนวิถีความหลากหลาย
โดยชุมพล ศรีสมบัติ
….วิถีคนมุสลิมในล้านนา ต่างกับวิถีมุสลิมในหลายพื้นที่ เพราะบรรพบุรุษส่วนใหญ่ เป็นผู้อพยพ เราเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ชุมชนเอาไว้บนหลักการของอิสลาม….
” แม้ว่าชุมชนแห่งนี้อาจไม่โดดเด่นมากนัก หากแต่ว่า ชุมชนบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีเรื่องราวการสืบทอดทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
อีหม่ามสมหวัง มาตระกูล
นายสมหวัง มาตระกูล อดีตอิหม่ามมัสยิดอัลเราะมะฮฺ บ้านท่าตอน เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า แต่กาลก่อน ที่นี่พี่น้องมุสลิมเชื้อสายจีนยูนาน 4 ตระกูล อันประกอบด้วย คนตระกูลแซ่ลี้ แซ่จาง แซ่ก่อ และแซ่หม่า มาตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรก หลังตั้งถิ่นฐานได้ร่วมกันสร้างมัสยิดหลังเก่า ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งแม่น้ำกก ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุ่งด้วยใบตองตึง อยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรงมากนัก แต่ก็ใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ และใช้เป็นที่แลกเปลี่ยน สาระทุกข์สุขดิบของชุมชน ได้เป็นอย่างดี
ต่อมาในปี 2517 พี่น้องมุสลิม เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น คุณทวี วงค์งาม ซึ่งถือได้เป็นแกนนำที่สำคัญท่านหนึ่งในในสมัยนั้น ได้ชวนพี่น้องมุสลิมร่วมกันหารือกันในเรื่องของการสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ ด้วยการระดมเงินทุนจากพี่น้องในพื้นที่ก่อนจะแล้วเสร็จในปี 2518 หลังสร้างมัสยิดแล้วเสร็จ ชุมชนจึงได้เสนอให้ นายทวี วงค์งาม เป็นอิหม่ามคนแรกของมัสยิด คนถัดมา นายจือฟู แซ่จาง เป็นอิหม่ามท่านที่สอง ต่อด้วย อิหม่ามสมหวัง มาตระกูล และ อิหม่ามคนปัจจุบัน พ.ท.มนัส ขันฑมาส เป็นนายทหารที่มาทำงานในพื้นที่
พื้นเพเดิมคนอยุธยา แต่มามีครอบครัวและตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าตอน “ พี่น้องมุสลิมในพื้นที่เห็นเป็นคนมีความรู้ความสามารถ จึงขอให้ พ.ท.มนัส ขันฑมาส เป็นอิหม่าม ต่อจากตนที่ลาออกเนื่องจากปัญหาเรืองสุขภาพ “
อดีตอิหม่ามสมหวัง กล่าว มัสยิดรูปทรงเก๋งจีนแห่งแรกในภาคเหนือ อดีตอิหม่ามสมหวัง เล่าให้ฟังต่อว่า มุสลิมมะฮ์ ในชุมชนบ้านท่าตอน ส่วนใหญ่เป็น ผู้ที่มาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผ่านการแต่งงาน แต่ด้วยหลักธรรมคำสอนของอิสลาม กับความเข้มแข็งด้านศาสนาของผู้นำครอบครัว สามารถกล่อมเกลาเขาเหล่านี้ ให้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด แต่นั่นก็หาได้มีที่ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเป็นสัดส่วน “ ทางอิหม่าม และคณะกรรมการมัสยิด ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็น ในการสร้างพื้นที่ ที่ยืนให้กับพี่น้องมุสลิมมะฮฺ เหล่านี้ เพื่อได้มีโอกาสได้มาประกอบศาสนกิจ (ทำอิบาดัต ) ฟังคำบรรยายธรรม(คุตบะห์) วันศุกร์ หรือเพิ่มพูนความรู้ความศรัทธาเพื่อความมั่นคงและยืนหยัดในการดำเนินชีวิต ในรูปแบบของมุสลิมที่สมบรูณ์ จึงได้ดำริที่จะสร้างขยายเพิ่มเติมขึ้น ”
อดีตอิหม่ามสมหวัง กล่าวและว่า การก่อสร้างอาคารละหมาดหญิง รูปทรงสวยงาม สไตล์เก๋งจีน จึงก่อกำเนิดขึ้น โดยการออกแบบของเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ ที่ออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เป็นอาคารที่มีอัตลักษณ์ แตกต่างจาก ที่อื่น ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร และเป็นหนึ่งเดียวในเชียงใหม่ ที่ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดเชียงใหม่ นายกวินธร วงศ์ลือเกียรติ นำภาพของมัสยิดหลังนี้ เป็นหนึ่งในของดีมุสลิมเชียงใหม่ ไว้สำหรับ มอบเป็นของที่ระลึกสำหรับแขกบ้านแขกเมือง
บนวิถีบนความหลากหลาย
อดีตอิหม่ามสมหวัง บอกว่า การอยู่ร่วมกันของมุสลิมชุมชนท่าตอน ได้อษสัยอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายศาสนาต่างความเชื่อ แต่เราอยู่ด้วยความรัก ความเข้าใจกัน เนืองจากส่วนใหญ่มุสลีมมะฮ์ ของเรา ก็เป็นคนพื้นเพเดิมของที่นี่อยู่แล้ว “ เราอย่ากันด้วยความเข้าใจ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อครั้งที่มัสยิดจัดงาน พี่น้องในชุมชนทุกศาสนิก ก็มาร่วมกิน ร่วมดื่ม มาช่วยงานของมัสยิดตลอด ความสัมพันธ์อยู่ในขั้นพี่น้องด้วยซ้ำไป ส่วนหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ทุกหน่วยงานก็ให้การสนับสนุน ทั้งเงินงบประมาณช่วยเหลือ หรือจะวัสดุอุปกรณ์ ตามความจำเป็นที่เราต้องใช้ ก็ต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้”
สำหรับบ้านท่าตอน เรายังมีแหล่งท่องเทียวที่น่าสนใจมากมาย มีภูเขาสีเขียวห้อมล้อมเมือง มีชนเผ่า ที่หลากหลาย อาทิ พี่น้องชนเผ่า ลาหู่ ลีซู ปากายอ และ อาข่า นอกจากนั้นที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถแสวงหาความสุขจากธรรมชาติด้วยการล่องเรือชมทิวทัศน์ สองข้างทาง ริมน้ำกก ผ่านเรือหางยาว ของชาวบ้าน ที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดเชียงราย ซึ่งนับเป็นทริปการท่องเทียว ที่น่าตื่นเต้น เร้าใจ ที่น่าสัมผัส อีกรายการหนึ่ง
ล่าสุดชุมชนบ้านท่าตอน ได้จัดกิจกรรมสำคัญทางศาสนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณและร่วมกันรักษาอัตลักษณ์ของอิสลามอีกทั้งสืบทอดประวัติของท่านศาสดา ด้วยการจัดงานเมาลิดนบี(ซ.ล.) ขึ้น “ วิถีคนมุสลิมในล้านนา ต่างกับวิถีมุสลิมในหลายพื้นที่ เพราะบรรพบุรุษส่วนใหญ่ เป็นผู้อพยพ เราเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในพื้นที่และมีหน้าที่ต้องรักษาศาสนาอิสลามเพื่อส่งต่อไปยังลูกหลาน … ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมัสยิดจึงจำเป็นอย่างมากในสังคมเฉกเช่นนี้ “ ท่านอีหม่าม พ.ท.มนัส ขันฑมาส กล่าวและว่า
แม้ว่า งานเมาลิดนบี ในเมืองล้านนา เกิดขึ้นตามความรู้ที่เล็กน้อยที่มากับชนคนอพยพ ก็ตาม แต่เรามีวัตถุประสงค์ในการจัดเพื่อกระตุ้นเรียนรู้วิถีชีวิต ในยืนหยัดในแบบอย่างการดำเนินชีวิตของนบี(ซ.ล.) ในสิ่งดีงามทั้งหลาย อีกหนึ่งเป็นกิจกรรมที่พี่น้องต่างบ้าน ต่างมัสยิดได้มีโอกาสได้พบกันเนื่องจากมุสลิมอยู่ห่างไกลกัน
อีหม่าม พ.ท.มนัส ขันฑมาส
อิหม่าม พ.ท.มนัส กล่าวอีกว่า แม้จะเป็นการจัดกิจกรรมแบบเล็กๆ แต่บริบทของงานได้แสดงให้เห็นถึงความรัก ความเข้าใจ และความให้เกียรติของคนบนความหลากหลายหรือพหุสังคม โดยใช้หลักการศาสนาเป็นพื้นฐานการอยู่ร่วมกัน บ้านท่าตอน ในวันนี้ แม้ตจะมีมุสลิม เป็นชนกลุ่มน้อย แต่ด้วยความรัก ความเข้าใจ การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านการเรียนรู้บนความต่างด้วยหัวใจแห่งความรักและเอื้ออาทร ทำให้ มุสลิมที่นี่จึงเป็นที่รักและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่น่าศึกษายิ่งนัก
ตีพิมพ์ในนิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับเดือน มีนาคม 2558
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น