มวยไทยไชยากับขุนนางกรมอาสาจาม-มลายู

 มวยไทยไชยากับขุนนางกรมอาสาจาม-มลายู



ครู นักชาย จิเมฆ (ครูยูซบ)

ตามประวัติศาสตร์มวยไชยาเท่าที่ทราบกันระบุว่า มวยไชยาเริ่มมีขึ้นที่ตำบลพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยพระภิกษุรูปหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “พ่อท่านมา” อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง เมืองไชยา เล่ากันว่า แต่เดิม “ท่านมา” เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสเป็นครูมวยในพระนคร (กรุงเทพมหานคร) บ้างก็ว่าท่านเป็นขุนศึกที่เคยออกรบในสมรภูมิเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) บ้างก็ว่าท่านเป็นครูมวยในสังกัดกรมทนายเลือกซึ่งมีหน้าที่กำกับมวยหลวงมา ก่อน ต่อมาท่านได้ออกบวชถือเพศบรรพชิตและออกธุดงค์จากพระนครลงสู่หัวเมืองปักษ์ ใต้ที่เมืองไชยา สุราษฎร์ธานี ภายหลังท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง เมืองไชยา

   และที่เมืองไชยานี่เอง พ่อท่านมาได้ถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยโบราณซึ่งเป็น “มวยหลวง” จากพระนครให้แก่ศิษยานุศิษย์ซึ่งเป็นชาวไชยาจนแพร่หลายและเรียกขานกันว่า “มวยไชยา” ในเวลาต่อมา ศิษย์ผู้แรกที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามวยจากพ่อท่านมาคือ พระยาวจีสัตยรักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ต่อมาพระยาวจีสัตยารักษ์จึงได้ถ่ายทอดวิชามวยให้แก่ศิษยานุศิษย์ในเมือง ไชยาจนกระทั่งเป็นที่เลื่องลือ บุตรชายของท่านคือ นายเขต ศรียาภัย ก็คือศิษย์คนสำคัญของพระยาไชยาที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามวยและสืบสานสั่งสอน ลูกศิษย์ลูกหาต่อมาเป็นจำนวนมาก

       หากถือตามคำบอกเล่าในประวัติ ศาสตร์ความเป็นมาของมวยไชยาข้างต้นก็จะได้ข้อสรุปที่เป็นประเด็นสำคัญดังนี้

       1.มวยไชยา เป็นสกุลมวยจากพระนคร (กรุงเทพฯ) ที่มีชาวพระนคร คือ พ่อท่านมา นำลงมาเผยแพร่ในเมืองไชยา โดยสกุลมวยนี้อาจเป็น “มวยหลวง” ในสังกัดกรมทนายเลือกอีกด้วย

        2.การเผยแพร่และถ่ายทอดมวยไชยาเริ่มต้นที่ตำบลพุมเรียง เมืองไชยาเก่าโดย “พ่อท่านมา” พระภิกษุในพุทธศาสนา

        3.ผู้มีส่วนร่วมในการทำให้มวยไชยาเป็นสกุลมวยประจำท้องถิ่นเมืองไชยาและ หัวเมืองปักษ์ใต้คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) และลูกหลานในตระกูลของท่าน

       4.ความเก่าแก่ของมวยไชยาย้อนกลับไปต้นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 165 ปีที่แล้วตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

         ทั้ง 4 ประการถือเป็นสาระสำคัญที่สรุปได้จากประวัติศาสตร์ไชยาที่สามารถสืบค้นได้ และเป็นข้อมูลที่รับรู้กันโดยแพร่หลาย อย่างไรก็ตามเราพบว่าประวัติมวยไชยาที่รับรู้กันนั้นยังคงประเด็นและข้อเท็จ จริงที่ขาดหายไปหลายประการดังนี้

        1.หากมวยไชยาเป็นสกุลมวยจากพระนครหรือเป็น “มวยหลวง” ตามที่เล่าขานแล้ว มวยไชยาก็ย่อมมิใช่มวยปักษ์ใต้แต่เป็นมวยภาคกลางที่พ่อท่านมานำไปถ่ายทอดที่ เมืองไชยา คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วสกุลมวยเดิมของชาวปักษ์ใต้ก่อนสมัยของพ่อท่านมาซึ่งสามารถย้อนกลับไปใน อดีตนับแต่ศรีวิชัย สุโขทัย และอยุธยาเป็นมวยสกุลใดเล่า? หรือว่าชาวปักษ์ใต้ในสมัยโบราณไม่มีวิชามวยและศิลปะการต่อสู้เป็นของตนเอง

          ทั้งๆ ที่พลเมืองในภาคใต้ก็เคยมีอาณาจักรโบราณที่รุ่งเรืองมาก่อน เช่น ตามพรลิงค์ ในเมืองนครศรีธรรมราชที่ปกครองเมืองทำนอง 12 นักษัตร โดยมีเมืองชุมพรใช้ตราแพะ เมืองกระบุรีใช้ตราหมู เมืองตรังใช้ตราม้า เมืองบันทายสมอ (ไชยา) ใช้ตราลิง เมืองสงขลา (สะอุเลา) ใช้ตราไก่ เมืองพัทลุงใช้ตรางูเล็ก และเมืองตะกั่วป่า (ถลาง) ใช้ตราหมา เป็นต้น (ดูประวัติเมืองนครศรีธรรมราช , คณะศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในคราวฉลองสมณศักดิ์พระครูใบฎีกาเจริญสุข (พระนคร : 2502) หน้า 24)

      ในแต่ละภาคของไทยก็มีสกุลมวยของตนเอง เช่น สกุลมวยท่าเสา (ภาคเหนือ) สกุลมวยโคราช (อีสาน) สกุลมวยลพบุรี (ภาคกลาง) เป็นต้น แล้วเหตุไฉนในภาคใต้จึงไม่มีสกุลมวยเป็นของตนเอง เพราะมวยไชยาเป็นสกุลมวยจากพระนครหรือเป็นมวยหลวงในกรมทนายเลือกตามประวัติ ที่เล่าขานนั้น มวยไชยาจึงมิใช่มวยเดิมในสกุลมวยท้องถิ่นในภาคใต้หากถือตามประวัติที่เล่า ขานกัน

       2.เมืองนครศรีธรรมราชตกเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัยภ่ยหลังการ แผ่ขยายพระราชอำนาจของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชลงสู่คาบสมุทรมลายุในราวพ.ศ. 1837 (G. coedes , The indianized states of Southeast Asia (Malaya : University of Malaya press , 1986 p. 208) ต่อมาเมืองนครศรีธรรมราชก็กลายเป็นหัวเมืองชั้นนอกของกรุงศรีอยุธยานับแต่ รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) และกลายเป็นเมืองเอกหรือเมืองพระยานครในภาคใต้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลก นาถ (พ.ศ. 1991-2021)

       เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นศูนย์กลางทางทหารของอยุธยาที่ใหญ่ที่สุดในภาค ใต้ และตลอดช่วงสมัยอยุธยา นครศรีธรรมราชได้ทำศึกกับหัวเมืองบนคาบสมุทรมลายูมาโดยตลอด ในบางรัชสมัยนครศรีธรรมราชก็แข็งเมืองและไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาจึงมีการทำ สงครามระหว่างกันอยู่หลายครั้งจนถึงสมัยกรุงธนบุรีก็มีสงครามกับนครศรี ธรรมราชเช่นกัน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วกองทัพของนครศรีธรรมราชใช้มวยสกุลใดในการต่อสู้กับศัตรูในสงครามควบคู่ กับการใช้ศัตราวุธ

         โปรดอย่าลืมว่า สงครามที่นครศรีธรรมราชเป็นกองทัพหลักในหัวเมืองภาคใต้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ก่อนยุคพ่อท่านมาหลายร้อยปี กล่าวคือก่อนที่มวยไชยาจะถูกถ่ายทอดที่ตำบลพุมเรียงในไชยานั้นกองทัพหัว เมืองภาคใต้ใช้มวยสกุลใดในการทำศึก? สมมุติฐานที่จะนำมาเป็นคำตอบของเรื่องนี้คือ

   ก.กองทัพในแคว้นนครศรีธรรมราชมีสกุลมวยไทยโบราณอยู่แล้ว

       ข.ทหารในกองทัพของแคว้นนครศรีธรรมราชและหัวเมืองภาคใต้ใช้มวยไทยโบราณจาก สกุลมวยที่แพร่หลายในกรุงศรีอยุธยา เพราะกองทัพหลวงมักทำศึกร่วมกับทหารในหัวเมืองภาคใต้อยู่บ่อยครั้ง จึงมีการนำมวยสกุลหลวงของอยุธยาลงไปถ่ายทอดให้แก่กำลังพลของหัวเมืองภาคใต้

   ค.ทหารในกองทัพนครศรีธรรมราชและหัวเมืองภาคใต้ไม่มีสกุลมวยเป็นของตนเอง

          ดูเหมือนสมมุติฐานข้อสุดท้าย (ค.) จะเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนข้อ (ข.) นั้นถ้าเป็นจริงดังที่ตั้งสมมุติฐานก็แสดงว่า สกุลมวยจากพระนคร (กรุงศรีอยุธยา) ได้รับการถ่ายทอดแก่กำลังพลของหัวเมืองภาคใต้ก่อนหน้ายุคของ “พ่อท่านมา” มาก่อนแล้วนับร้อยปี สกุลมวยพระนครหรือมวยหลวงจึงมิใช่เพิ่งเริ่มมีในหัวเมืองภาคใต้เพียงแค่ยุค ของพ่อท่านมา ซึ่งอยู่ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์

        ดังนั้นสมมุติฐานที่น่าจะ เป็นมากที่สุดก็คือข้อแรก (ก.) ที่ว่าในหัวเมืองภาคใต้ทั้งในแคว้นนครศรีธรรมราช สทิงพระ (พัทลุง-สงขลา) และแคว้นไชยา (รวมถึงชุมพรและตะกั่วป่า) มีสกุลมวยไทยโบราณเป็นของตนเองเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ของไทย และสกุลมวยแดนใต้นี้ก็มีมาก่อนยุคของพ่อท่านมาเป็นเวลาหลายร้อยมาแล้ว

        3. การเกิดขึ้นของมวยไทยไชยาที่ตำบลพุมเรียงอันเป็นที่ตั้งของเมืองไชยาเก่าโดย พ่อท่านมาน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการวิชามวยไทยโบราณที่สกุลมวยไทย ของแดนใต้ที่มีอยู่แต่เดิมตามข้อสันนิษฐานที่กล่าวมากับสกุลมวยพระนครหรือ มวยหลวงของพ่อท่านมาได้มาบรรจบกัน และมีการประยุกต์ผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดศาสตร์มวยไชยาที่สมบูณ์แบบข้อนี้ มีความเป็นไปได้สูง แต่นั่นก็เป็นขั้นที่วิชามวยไทยไชยาตกผลึกแล้ว

        ประเด็นที่น่าสนใจก็คือพัฒนาการของมวยไทยโบราณที่มีอยู่แต่เดิมในหัว เมืองภาคใต้นั้นได้รับการพัฒนามาก่อนอย่างไร? หากเราเชื่อว่า สกุลมวยภาคเหนืออย่างมวยท่าเสามีประวัติย้อนกลับไปยุคของพระนางจามเทวีและมี ศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า “เจิ้ง” เข้ามาผสม สกุลมวยโคราชมีมวยลาวและเขมรเข้ามาผสม แล้วมวยไทยโบราณในภาคใต้ผสมกับศิลปะการต่อสู้แขนงใด? ก่อนที่จะตกผลึกในพัฒนาการขั้นสุดท้ายที่พุมเรียงในเมืองไชยาโดยพ่อท่านมา

        คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ มากที่สุดก็คือ มวยไทยโบราณในภาคใต้ได้บรรจบและผสมผสานกับ ศิลปะป้องกันตัวของพลเมืองท้องถิ่นที่เป็นชาวมลายู-ชะวาซึ่งเรียกว่า “ปัญจ สิลัต” (สิละ) นั่นเอง หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริงก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า มวยไทยโบราณในภาคใต้ผสมปัญจสิลัตได้อย่างไร? คำตอบก็อยู่ที่พุมเรียง เมืองไชยานั่นเอง

      กล่าวคือ เจ้าเมืองไชยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ซึ่งมีราชทินนาม “พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม” คือ ท่านมุสตาฟาบุตรสุลต่านสุลัยมานชาห์ แห่งสิงขรนคร (สงขลา) ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทครัวจากเมืองสงขลามายังเมืองไชยา และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองไชยาในปีพ.ศ. 2225 เจ้าเมืองไชยาคนต่อมาคือ พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (เตาฟีค-ตาไฟ) บุตรของพระยาไชยา (มุสตาฟา) ในปีพ.ศ. 2235

        ท่านเตาฟีกเคยรับราชการในกรุงศรีอยุธยา มีบรรดาศักดิ์ในกรมอาสาจามมลายูว่า “หลวงคชสวัสดิ์ราชบังสัน” พระยา ไชยา (เตาฟีก) มีบุตรที่ดำรงตำแหน่งพระยาไชยาสืบต่อกันมาอีก 2 ท่านคือ พระยาชา (ฟารุค) ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียให้แก่พม่า และพระยาไชยา (บุญชู) ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาไชยาทั้ง 4 ท่านเป็นขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ แห่งสิงขรนคร (สงขลา) ที่ปกครองเมืองไชยาตลอดระยะเวลา 113 ปีด้วยกัน

      หลังจากนั้นก็เป็นเจ้าเมืองไชยาในสายสกุลอื่น ตามจดหมายเหตุของหมื่นอารีราษฎร์ (วิน สาลี) บันทึกไว้คือ พระยาไชยาที่มีชื่อตามลำดับดังนี้ พุทโธ , หัวสั่น , มี , ท้วม , ปลอด , กลิ่น , กลับ , จุ้ย , น้อย และพระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) ปฐมศิษย์ของพ่อท่านมานั่นเอง ขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์อีกส่วนหนึ่งก็คือ เจ้าเมืองพัทลุง (หุเซ็น) หลวงศรีปะดุกา หลวงทิพเทวา พระภักดีเสนาเมืองตะกั่วป่า และพระยาราชบังสัน (หะซัน) เจ้ากรมอาสาจาม-มลายูในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งธิดาของท่านเป็นปฐมชายาใหญ่ของขุนหลวงสุรศักดิ์ ที่ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าเสือ (พระสรรเพชญ์ที่ เจ๋ง แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง

       เรื่องราวของพระยาราชบังสัน (หะซัน) กับขุนหลวงสุรศักด์ถูกบันทึกไว้ในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) การเกี่ยวพันของบุคคลทั้งสองคือสมเด็จพระเจ้าเสือผู้ทรงเป็นตำนานหนึ่งของ มวยไทยโบราณอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานศิลปะการต่อสู้ 2 แขนงเข้าด้วยกัน นั่นคือมวยไทยโบราณสกุลพระนคร-ลพบุรีกับปัญจสิลัต ทางหนึ่ง และการเป็นเจ้าเมืองไชยาของขุนนางมุสลิมในสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานชาห์ซึ่ง เป็นชาวมลายู-ชะวาที่มีปัญจสิลัตเป็นศิลปะการต่อสู้สำคัญกับมวยไทยโบราณใน หัวเมืองภาคใต้ก็อาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานศิลปะต่อสู้ 2 แขนงเข้าด้วยกันอีกทางหนึ่ง

       และเมื่อวิชา 2 แขนงได้ประยุกต์เข้าด้วยกันแล้วการมาบรรจบของมวยทั้ง 2 แขนงก็ผ่านกรมอาสาจาม-มลายูอีกครั้งในสมัยกรุงธนบุรีด้วยการยกทัพเข้าปราบ ชุมนุมพระยานครฯ ในปีพ.ศ. 2312 โดยเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) ลูกหลานพระยาราชบังสัน (หะซัน) ที่ยกทัพผ่านเมืองไชยาและต่อเรือรบที่นั่นพร้อมกับการเข้ามาสมทบของพลเมือง ไชยาที่มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติก่อนเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อ มา

       พัฒนาการของศิลปะการต่อสู้ 2 แขนงระหว่างมวยไทยโบราณและปัญจสิลัตจึงผ่านเมืองไชยามาตลอดช่วงกรุง ศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ก่อนที่จะตกผลึกในพัฒนาการขั้นสุดท้าย โดยการประยุกต์ของพ่อท่านมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแม้แต่ก่อนหน้านั้น กรมอาสาจาม-มลายูก็ผ่านเส้นทางนี้เพื่อเดินทัพร่วมกับทัพหลวงของสมเด็จพระ บวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทในการสงครามกับหัวเมืองภาคใต้มาก่อนแล้วในรัชกาลที่ 1 แห่งบรมราชจักรีวงศ์

         หากข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาเป็น ความจริงก็แสดงว่า มวยไทยไชยามีความเกี่ยวพันกับกรมอาสาจาม-มลายูและขุนนางมุสลิมในสายตระกูล สุลต่านสุลัยมานชาห์อย่างไม่ต้องสงสัย และหากปรากฏว่ามวยไทยไชยามีผู้สืบสานสายพุทธ มวยไทยไชยาก็มีผู้สืบสายสกุลมวยนี้ในสายของมุสลิมเช่นเดียวกัน

ที่มา http://www.alisuasaming.com/index.php/article/---champa-/2146-champa09

   ภาพ


ความคิดเห็น