การใช้ประโยชน์ของมุสลิมจากภาษีสุรา ภาษีสุกรที่เก็บโดยรัฐบาลไทย ในมุมมองของกฎหมายอิสลาม
เขียนโดย ดร.มะรอนิง สาแลมิง
ปัญหาภาษีสุรา ภาษีสุกร ที่เก็บโดยรัฐบาลไทยและเป็นงบพัฒนาประเทศ เป็นปัญหาหนึ่งที่มุสลิมในประเทศไทยให้ที่ความสนใจ และสับสนในเรื่องข้อกำหนดของศาสนาว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ หรือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม สาเหตุจากข้อบัญญัติศาสนาห้ามมุสลิมเกี่ยวข้องกับสุรา สุกรหรือการพนัน ซึ่งในอัลกุรอาน และในสุนนะฮฺของท่านรอซูล ( ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนสับสนก็คือ ภาษีดังกล่าวทั้งผู้ให้และผู้เก็บไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอิสลาม
คำถามก็เกิดขึ้นว่าผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมทำธุรกรรมต่าง ๆ ในรัฐหรือประเทศที่มิใช่เป็นรัฐหรือประเทศอิสลาม ระหว่างผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมด้วยกันจำต้องใช้กฎหมายอิสลามเป็นบรรทัดฐานด้วยหรือไม่ ? และความแตกต่างของรัฐมีผลต่อข้อแตกต่างของข้อกำหนดในอิสลามหรือไม่ ? หากการทำธุรกรรมระหว่างผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยกันเป็นสิ่งที่ชอบธรรมระหว่างพวกเขา และสิ้นสุดลงแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะมีผลต่อการทำธุรกรรมกับมุสลิมอีกหรือไม่ ? และ สถานภาพของมุสลิมในประเทศไทยอยู่ในสถานภาพอะไร ? และเงิน สสส. ไม่ผิดกฎหมายไทยโดยเอกฉันท์ของนักปกครองและนักกฎหมายไทย แต่มันผิดกฎ ศาสนบัญญัติอิสลามจริงหรือ ?
ที่จริงข้อสับสนดังกล่าวที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นข้อสับสนที่ตรงประเด็น เพราะภาษีสุรา ภาษีสุกร ที่เก็บโดยรัฐบาลในประเทศไทย ที่ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่กฎหมายอิสลาม เป็นปัญหาที่มีลักษณะหลายแง่หลายมุมที่ต้องพิจารณา การชี้ขาดว่าเป็นสิ่งหะรอม เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม หรือเป็นสิ่งที่อนุมัติ ก็ต้องอาศัยการมองในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ใช่มองแค่มุมเดียว หรือมองแค่ในมุมมองที่เป็นหุกมตักลีฟียฺ ( คือหุกม 5 ประเภท นั่นคือ วาญิบ สุนัต อนุมัติ หะรอม มักรูฮฺ ) อย่างเดียว แต่ต้องอาศัย หุกมวัฎอียฺที่เป็นหุกมเชิงวิธีการ หรือเชิงโครงสร้าง (นั้นก็คือ สะบับ ชะรัต รุกุ่น มาแนะ รุคเสาะ อะซีมะฮฺ ศีหะฮฺ และบุฏลาน ) ด้วย ประเภทต่าง ๆ ของหุก่มวัฎอีย์ที่กล่าวมานี้อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้หุกมตักลีฟีย์เปลี่ยนไปก็ได้ และเป็นการมองปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบถ้วน หาไม่แล้ว เราอาจเป็นคนที่ให้คำชี้ขาดโดยที่ยังมีข้อบกพร่องในกระบวนการพิจารณาอยู่ และอาจจะอยู่ในกลุ่มที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในอัลกุรอานที่มีความว่า :
“ และพวกเจ้าอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า นี่เป็นที่อนุมัติ และนี่เป็นที่ต้องห้าม ( โดยไม่มีหลักฐาน และพยาน ) เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺนั้น พวกเจ้าจะไม่ได้รับความสำเร็จ ” ( อันนะหลฺ โองการที่ 116 )
และเพื่อเป็นการตอบข้อสับสนในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นนี้ กระผม ใคร่ขอแยกปัญหาต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นข้อ ๆ เพื่อเป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้อ่านดังนี้
1. การทำธุรกรรม หรือนิติกรรมสัญญาระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยกัน ในสิ่งที่พวกเขายอมรับว่าเป็นสิ่งหะลาล หรือที่ถูกต้องตามกฎหมายของพวกเขา เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ในมุมมองของกฎหมายอิสลาม ?
ตอบ : การทำธุรกรรม หรือนิติกรรมสัญญาระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยกัน เช่น การแต่งงาน การซื้อขายสุรา การซื่อขายสุกร หากสิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับ หรือกฎหมายของพวกเขาให้การรับรองว่าถูกต้อง กฎหมายอิสลามถือว่าการทำธุรกรรมหรือการทำนิติกรรมสัญญาหรือการกระทำของพวกเขาเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ชายหญิงที่แต่งงานตามประเพณีหรือตามพิธีกรรมศาสนาหรือกรอบกฎหมายกำหนดของพวกเขา กฎหมายอิสลามถือว่าทั้งสองเป็นผู้ทรงสิทธิ์ซึ่งกันและกัน สินสอดที่ฝ่ายหญิงได้รับ ก็ถือเป็นทรัพย์สินที่หะลาล ลูกที่เกิดมาก็ถือว่าเป็นลูกที่ถูกต้อง สามารถนับวงศ์ตระกูลได้โดยชอบธรรม และหากสามี ภรรยาคู่นั้น เข้ารับอิสลามพร้อมกัน ก็ไม่ต้องทำการแต่งงานใหม่ ซึ่งหากพิจารณาตามกฎหมายอิสลามในเรื่องว่าด้วยการแต่งงานอิสลามได้กำหนดรูปแบบ วิธีการ การแต่งงานโดยชัดเจน ซึ่งหากมุสลิมคนหนึ่งคนใดทำการแต่งงานที่ผิดหลักการศาสนาโดยตั้งใจ การกระทำของเขาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เงินสินสอดเป็นเงินที่ไม่บริสุทธิ์ ลูกที่เกิดมาก็เป็นลูกที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่มิใช่มุสลิม ที่แน่นอนแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาเหล่านั้นจะทำการแต่งงานตามกฎหมายอิสลาม แต่ขณะเดียวกัน อิสลามยอมรับถึงความชอบธรรมทางการกระทำของพวกเขา หากสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่กฎหมายของพวกเขายอมรับ ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างที่ชัดเจนในแง่กฎหมายอิสลามระหว่างการกระทำที่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง กับการกระทำของผู้ที่มิใช่มุสลิม
การซื้อขายสุรา หรือการซื้อขายสุกร หากสังคมหรือกฎหมายของผู้ที่มิใช่มุสลิมเห็นว่า สุรา และสุกรเป็นทรัพย์ที่เป็นสินค้า หรือเป็นสิ่งที่สังคมหรือกฎหมายของพวกเขายอมรับว่าเป็นสิ่ง
หะลาล หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการทำธุรกรรมซื้อขายระหว่างพวกเขาเป็นเรื่องปกติธรรมดา กฎหมายอิสลามก็ให้การยอมรับถึงการทรงสิทธิ์ของผู้ครอบครองในสุราและสุกร และเมื่อมีการซื้อขายผู้ขายก็ทรงสิทธิ์ในราคา ผู้ซื้อก็ทรงสิทธิ์ในสินค้า ถึงแม้ว่าการค้าขายนั้นจะไปเกิดขึ้นในรัฐของอิสลามก็ตาม และถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมที่จะฆ่าสุกรของพวกเขา
ท่านเชค อิบนุก็อยยิม อัลเญารซียะฮฺ ได้อ้างคำกล่าวของ ยะอฺกูบ อิบนุบัคตานว่า ท่านได้ถามท่านอิหม่ามอะหฺมัด อิบนุหัมบัล ถึงสุกรและสุราของผู้ที่มิใช่มุสลิมที่อยู่ในอาณาจักรของอิสลาม ท่านอิหม่ามอะหฺมัด อิบนุหัมบัลตอบว่า “ เจ้าอย่าฆ่าสุกรของพวกเขา เพราะพวกเขาทรงสิทธิ์ในพันธะสัญญา และจงอย่าริบเอาสุราและสุกรจากพวกเขา เพราะพวกเขาทรงสิทธิ์ที่จะทำการซื้อขายระหว่างพวกเขา ” (อิบนุก็อยยิม : อะหฺกามุล อะฮฺลุลซิมมะฮฺ : 1995 : 1: 63)
และหากพวกเขาอยู่ในรัฐหรือประเทศที่มิใช่เป็นประเทศอิสลาม แน่นอน สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมสำหรับพวกเขาในเชิงกฎหมายขึ้นมาอีก เพราะพวกเขามิต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของกฎหมายอิสลาม โดยความเห็นตรงกันของนักกฎหมายอิสลาม ( ศ.ดร.อับดุลอาซิซ อิบนุ มับรูก: 2005 : 1 / 327 – 328 )
2. เมื่อการทำธุรกิจหรือนิติกรรมสัญญาของพวกเขาเป็นสิ่งที่กฎหมายอิสลามให้การยอมรับว่าชอบธรรม เงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่ได้จากการทำธุรกรรม หรือการทำนิติกรรมสัญญาดังกล่าวของพวกเขา มุสลิมสามารถทำการซื้อ ขาย ในเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายอิสลาม หรือรับในรูปแบบ รับบริจาค รับของขวัญ ได้หรือไม่ ?
ตอบ: เช็คอิบนุก็อยยิม กล่าวว่า “ เมื่อพวกเขาเหล่านั้น (ผู้ที่มิใช่มุสลิม) ได้ชำระค่าต่าง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของพวกเขา จะเป็นภาษีส่วนตัว (ภาษีคุ้มครอง) ภาษีที่ดิน ค่าปรับ (สินไหม) จ่ายหนี้ หรืออื่น ๆ ที่มาจากสิ่งต้องห้ามในระบบกฎหมายของเรา (มุสลิม) แต่ของพวกเขาไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เช่น เหล้า สุกร ถือว่าเป็นสิ่งอนุมัติสำหรับเราที่จะได้รับจากเขาเหล่านั้น นี้คือทัศนะของอิหม่ามอะหฺมัด (อัล-ฮัมบาลีย์) และนักกฎหมายอิสลามท่านอื่น ๆ ที่เป็นชาวสะลัฟ…… แท้จริงเหล่าปฏิเสธชน เมื่อได้ทำการซื้อขายสิ่งเหล่านั้น (สุรา ,สุกร) ระหว่างพวกเขาแล้ว ถือว่าพวกเขาได้ดำเนินธุระกรรม บนพื้นฐานในสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสินค้า และมูลค่าที่ชอบธรรม และในเมื่อเรารับมูลค่าจากพวกเขา ก็ถือว่าเรารับมูลค่าที่หะลาล (ชอบธรรม) ของพวกเขา ” (อิบนุก็อยยิม : 1995 : 1 : 63)
3. ในรายงานของมุสลิม หะดีษที่ 1,599 ความว่า “ แท้จริงสิ่งหะลาลมีความชัดเจน และสิ่งหะรอมก็มีความชัดเจน (เช่นเดียวกัน) และระหว่างหะลาลกับหะรอมจะมีสิ่งคลุมเครือ ซึ่งคนส่วนมากจะไม่รู้ ใครที่สำรวมตนจากข้อคลุมเครือนั้น ก็เสมือนว่าเขาได้ปกป้องศาสนา และเกียรติของเขาให้บริสุทธิ์ และใครที่ตก (กระทำ) ในสิ่งที่มีความคลุมเครือ ก็จะตก (กระทำ) ในสิ่งที่หะรอม ”
หะดีษบทนี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้มุสลิมทำในสิ่งที่หะรอมชัดเจนเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องในสิ่งที่คลุมเครืออีกด้วย และเป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่า สุรา สุกร เป็นสิ่งหะรอมในกฎหมายอิสลาม โดยอัลกุรอาน ซุนนะฮฺ ของท่านรอซูล และเป็นสิ่งที่อุละมาอฺให้ความเห็นโดยมติเอกฉันท์ ซึ่งมุสลิมไม่ว่าใคร ไม่สามารถปฏิเสธถึงข้อกฎหมายนี้ได้ แล้วการที่มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาษีสุรา ภาษีสุกร หรือภาษีการพนัน เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งหะรอมที่ชัดเจน หรืออย่างน้อย ก็เข้าไปเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นชุบหาต (คลุมเครือ) หรือไม่ ?
ตอบ: ที่จริงแล้วไม่ใช่เฉพาะหะดีษที่กล่าวมาข้างต้นที่เราต้องมาพิจารณา แต่ยังมีอีกสองหะดีษที่ควรพิจารณาด้วย นั่นคือ
1. หะดีษรายงานโดยอัล-บุคอรี หะดีษลำดับที่ 2,236 และรายงานโดยมุสลิม หะดีษลำดับที่ 1,581 ที่มีความว่า “ อัลลอฮฺได้ประณามญะฮูด แท้จริงหลังจากที่อัลลอฮฺได้ทำการห้ามบริโภคมันสัตว์ที่ตายเอง แต่พวกเขาได้ทำการละลายมันด้วยการลนไฟ และจัดการขาย และพวกเขาได้เอามูลค่ามาใช้จ่าย ”
2. หะดีษรายงานโดย อันนะซาสาอีย์ และอัลหากิม (ซึ่งท่านกล่าวว่า หะดีษนี้มีความสมบูรณ์ (ถูกต้อง) ในเชิงสายรายงาน) มีความว่า “ จงละทิ้งสิ่งที่สูเจ้ามีความลังเล ไม่แน่ใจ สู่สิ่งที่สูเจ้าไม่มีความลังเล ”
การตอบคำถามนี้ต้องอาศัยการพิจารณาด้วยการตั้งข้อสังเกตต่อความเป็นจริงและความหมายของหะดีษต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นด้วยข้อสังเกตต่อไปนี้
ข้อสังเกตที่หนึ่ง : สำหรับมุสลิมสุรา สุกร เป็นสิ่งหะรอมที่ชัดเจน
สุรา สุกร เป็นสิ่งต้องห้ามที่ชัดเจน และหะรอมสำหรับมุสลิมในทุกบริบท โดยที่กฎหมายอิสลามห้ามไม้ให้เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบการผลิต การขาย การทำงานในโรงงาน การโฆษณา การขับรถบรรทุกหากเป็นสุรา หรือการเลี้ยงสุกร รับเลี้ยง (ด้วยการเอาเงินเดือน) ขาย รับจ้างบรรทุก หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุกร และหากใครเข้าไปเกี่ยวก็ถือว่าผิดกฎหมายอิสลาม เงินที่ได้มาก็เป็นเงินที่ไม่ชอบธรรม และหากใครปฏิเสธข้อกฎหมายที่ว่าสุกร สุราเป็นสิ่งหะรอม โดยตั้งใจ เขาก็อาจจะตกศาสนาก็ได้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีข้อขัดแย้งกันระหว่างนักกฎหมายอิสลามหากมุสลิมอยู่ในรัฐอิสลาม
ข้อสังเกตที่สอง : สุรา สุกร เป็นสิ่งหะลาล และชอบธรรมที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่มิใช่มุสลิม
การทำธุระกรรม เช่น การซื้อขาย การเก็บภาษี หรืออื่น ๆ หรือการทำนิติกรรมสัญญา เช่น การแต่งงาน ระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วนกันในรัฐของเขา ไม่สามารถนำกฎหมายอิสลามมาเป็นบรรทัดฐานได้ และกฎหมายอิสลามให้การยอมรับว่า การกระทำของพวกเขาในสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งชอบธรรม ตราบใดที่การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่กฎหมายในสังคมของพวกเขายอมรับว่าถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมายของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกฎหมายอิสลามมีความเห็นตรงกันในประเด็นนี้ ( ศ.ดร.อับดุลอาซีว อิยนุ มับรูก : อิคติลาฟูด – ดา ไรดฺ: 1/327 – 328 )
สรุปจากสองข้อสังเกตข้างต้น สุรา สุกร เป็นสิ่งต้องห้าม หะรอมสำหรับมุสลิมที่จะไปเกี่ยวข้องในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม จะเป็นในรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายอิสลาม หรือในรัฐปฏิเสธชนก็ตาม (ในทัศนะส่วนมากของนักกฎหมายอิสลาม) ซึ่งเป็นสิ่งหะรอมที่ชัดเจน ส่วนผู้ที่มิใช่มุสลิม สุรา สุกร หากอยู่ในรัฐของพวกเขา และกฎหมายของพวกเขาให้การยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง และชอบธรรมด้วยกฎหมายของพวกเขา กฎหมายอิสลามให้การรับรองว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมสำหรับพวกเขา และเป็นสิ่งหะลาลโดยชัดเจนสำหรับพวกเขา (ในเชิงกฎหมาย)
ข้อสังเกตที่สาม : ภาษีสุรา ภาษีสุกร เป็นชุบหาตสำหรับมุสลิมหรือไม่ ? โรงงานสุรา ผู้ดื่มสุรา ผู้ซื้อสุรา ผู้เก็บภาษีสุรา ทุกฝ่ายล้วนเป็นคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีตามพระราชบัญญัติให้การเก็บภาษีเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและถูกด้วยกฎหมายของประเทศ การเก็บภาษีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เมื่อผู้จ่ายโดยเจ้าของโรงงาน หรือผู้ค้า (มิใช่มุสลิม) ให้กับผู้เก็บซึ่งเป็นรัฐ (มิใช่มุสลิม) การดำเนินการจ่ายภาษี และการเก็บภาษีก็ได้สิ้นสุดลงระหว่างพวกเขา (ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม) การกระทำของพวกเขาถือว่าเป็นสิ่งชอบธรรมด้วยกฎหมาย โดยที่มุสลิมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ การกระทำของผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ชอบธรรมในเชิงกฎหมายที่กฎหมายอิสลามให้การรับรอง (สำหรับพวกเขา) และถือว่ากระบวนการเก็บภาษีได้สิ้นสุดลงแล้ว
การได้มาซึ่งประโยชน์ต่าง ๆ ของมุสลิมในประเทศไทย ในรูปแบบโครงการ ความช่วยเหลือ ทุนการศึกษา หรืออื่น ๆ ที่รัฐจัดสรรจากภาษีที่มาจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการรับในสถานะพลเมืองของประเทศ การจัดสรรดังกล่าว ไม่ได้เจาะจงกับพลเมืองที่เป็นมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นนโยบายของรัฐที่จัดสรรให้กับพลเมืองทั้งประเทศ ซึ่งกระบวนการเก็บภาษีระหว่างรัฐกับผู้เกี่ยวข้องได้สิ้นสุดแล้ว และเป็นสิ่งชอบธรรม การได้มาของมุสลิมจึงเป็นการได้มาในรูปงบ หรือค่าใช้จ่ายของรัฐที่พึงมีต่อพลเมือง ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในบริบทของภาษี หรืออยู่ในกระบวนการเก็บภาษีอีกแล้ว แต่มันอยู่ในบริบท หรือในรูปของงบประมาณของรัฐ ซึ่งระหว่างการเก็บภาษี กับการเป็นงบประมาณ จะเป็นงบพัฒนาหรืออะไรก็ตาม ถือว่าเป็นคนละประเด็นกัน และการที่จะถือว่าภาษีเหล่านี้เป็นสิ่งชุบหาตสำหรับมุสลิมหรือไม่ การที่จะตอบคำถามนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของชุบหาตก่อนว่ามันคืออะไร?
ท่าน อัลคูตอบีย์ ได้นิยามชุบหาตว่า “ ทุกสิ่งที่มีความคล้ายกับหะลาล ในมุมหนึ่ง และคล้ายกับหะรอมในอีกมุมหนึ่ง ” จากนิยามนี้ แสดงให้เห็นถึง การนิยามบนพื้นฐานของการตั้งชื่อชุบหาตนั้น ก็คือสิ่งที่คล้ายกับหะลาลในอีกมุมหนึ่ง และคล้ายกับหะรอมในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งนักกฎหมายเท่านั้นที่สามารถโยงได้ว่าอันไหนมันชัดเจนกว่า (ระหว่างสองมุมที่กล่าวถึง) ความคลุมเครือเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของนักกฎหมาย หรือความขัดแย้งของหลักฐานทางกฎหมาย หรือเพราะกฎหมายไม่ได้ระบุ (บัดรุดดีน อัลไอนีย์ : อุมดะตุลกอรี : 1/334)
ในขณะที่ อัลอิซซู อินบนุ อับดุลสะลาม ได้นิยามชุบหาตว่า “ หากหลักฐานทางกฎหมายมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของหะลาล หะรอม ถือว่าเป็นชุบหาต ”
และได้กล่าวว่า “ และการเลี่ยงมัน เป็นการละทิ้งชุบหาต เพราะว่า มันคล้ายกับว่ามันหะลาล เพราะมีหลักฐานทางกฎหมายที่ชี้ว่ามันหะลาล และคล้าย ๆ กับว่ามันเป็นสิ่งหะรอมเพราะมีหลักฐานทางกฎหมายว่ามันหะรอม ซึ่งหากใครห่างไกลจากกรณีอย่างนี้ คือผู้ที่ปกป้องศาสนาและเกียรติของตัวเอง ” (กอวาอิดุลอะหฺกาม ฟี มะศอลิหุลอะนาม : 2 / 92 – 93)
จากการพิจารณาคำนิยามของท่านอิหม่ามอิซซุดดีนข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชุบหาตเกิดขึ้นจากความคลุมเครือของหลักฐานทางกฎหมาย ที่ชี้ถึงหะลาล และหะรอมในสิ่งหรือกรณีเดียวกัน
สรุปข้อสังเกตข้อที่สาม
ปัญหาที่เรากำลังพูดถึงนั้นก็คือ ภาษีสุรา ภาษีสุกร หากพิจารณาจากคำนิยามของชุบหาต ของนักกฎหมายอิสลามทั้งสอง จะเห็นได้ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกัน หากเป็นกรณีที่มุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นกรณีเดียวกันที่กระบวนการดำเนินการยังไม่สิ้นสุด แต่ถ้าหากเป็นคนละกรณี กรณีการเก็บภาษีสุรา ภาษีสุกร ได้สิ้นสุดระหว่างคู่กรณีนั้น ก็คือเจ้าของสุรา หรือสุกร กับรัฐที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งคู่ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานกฎหมายอิสลามได้ และมันได้จบสิ้นตามกระบวนการ การดำเนินการที่ชอบธรรมของคู่กรณีแล้ว ส่วนการได้มาของงบต่าง ๆ ที่มุสลิมได้รับมาจากรัฐบาล เป็นกรณีสัมพันธภาพ ระหว่างรัฐกับมุสลิม ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการเก็บภาษีสุรา ภาษีสุกร ฉะนั้น การรับประโยชน์ของมุสลิมจากรัฐบาล จึงไม่ใช่อยู่ในขอบเขตความหมายของชุบหาต ถึงแม้ว่า สุรา สุกร จะเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมก็ตาม และถึงแม้ว่าความรู้สึกของเราอาจจะขยะแขยงกับที่มาของงบดังกล่าวก็ตาม เพราะชุบหาตไม่ใช่สิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึก ซึ่งมันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ใครก็ได้ จะรู้สึกอย่างไร ฉะนั้น ความรู้สึกจะแตกต่างตามมุมมองของแต่ละคน แต่ชุบหาตอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางกฎหมายที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังนั้นชุบหาตที่ต้องเลี่ยงและมีผลคือ ชุบหาตที่มีความชัดเจน
อิหม่ามอัสสะยูตีได้กล่าวว่า “ เงื่อนไขที่จะถือว่าเป็นชุบหาต คือ จะต้องมีความเด่นชัดในรูปของการเป็นชุบหาต หาไม่แล้วมันก็จะไม่มีผล ” (อัล – อัซบาหุ วันนาซออิร : 124)
อิหม่ามอัรรอฟิอี ได้กล่าวว่า “ สิ่งที่ทำให้ออกจากแนวชุบหาต เข้าสู่บริบทของ วัสวัส (ลังเล) คือ การคิดไกลนอกเหนือความจริง แท้จริงอันนี้ไม่ใช่เป็นชุบหาตที่สมควรหลีกเลี่ยง ตัวอย่างเช่น ไม่ยอมแต่งงานกับสตรีทั้งประเทศเพราะกลัวว่าจะมีคนที่เป็นมะหฺรอมอยู่ ” (อุมดาตุลกอรี : 1 / 344)
อิหม่ามกุรตุบีกล่าวว่า “ การสงวนในเรื่องที่คล้าย ๆ กับกรณีนี้ แท้จริงมันคือ วัสวัส ที่มาจากซาตาน เพราะมันไม่มีความหมายที่ชี้ถึงการเป็นชุบหาตเลย สาเหตุที่ทำให้เขาต้องตกไปอยู่ในวังวนของการลังเลนี้ก็เพราะ ความไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ” (อุมดาตุลกอรี : 1 / 344 )
ข้อสังเกตที่สี่ : หะดีษห้ามไม่ให้ทำการไหละฮฺ
หะดีษที่กล่าวเพิ่มเติมหะดีษที่หนึ่ง เป็นหะดีษที่ห้ามไม่ให้ทำการไหละฮฺ ซึ่งชี้ถึงสาเหตุการถูกประณาม นั้นก็คือ จากการกระทำเพื่อทำให้สิ่งหะรอม กลับกลายเป็นสิ่งหะลาล โดยเอาสิ่งต้องห้ามมาแปรเปลี่ยนสภาพ และชื่อ เพื่อให้เป็นสิ่งที่อนุมัติโดยที่ลักษณะนี้ เป็นนิสัยของชาวยะฮูด ซึ่งมุสลิมมิควรเอาเยี่ยงอย่าง
แต่หากพิจารณาหะดีษนี้กับปัญหาเรื่องภาษีที่เรากำลังพูดถึง จะพบว่ามีสิ่งที่คล้ายคลึงกันนั้นคือ สุรา สุกร เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม โดยที่มุสลิมมิสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ กับกิจการ กระบวนการ ที่มีสุรา สุกร เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นการซื้อขาย การผลิต เป็นคนในโรงงาน หรืออื่น ๆ ที่เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งประโยชน์ที่เป็นมูลค่าของสินค้า หาไม่แล้ว มุสลิมคนนั้นก็จะอยู่ในสถานะเหมือนยะฮูด กลุ่มชนที่ถูกประณาม แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ กรณีภาษีที่เรากำลังพูดถึง เกิดจากการกระทำของผู้ที่มิใช่มุสลิม ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและถูกต้องสำหรับพวกเขา โดยไม่สามารถเอากฎหมายอิสลามมาเป็นบรรทัดฐานได้ สำหรับความเกี่ยวข้องของมุสลิมนั้น ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสุรา สุกร แต่การได้มาของงบ เป็นการได้มาในบริบทของสิทธิการเป็นประชากรและพลเมืองของประเทศซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องจัดสรรให้ความช่วยเหลือ ฉะนั้น การเก็บภาษีสุรา ภาษีสุกร เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับประชากรที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งคู่ และกระบวนการการดำเนินการได้จบสิ้นลงระหว่างคู่กรณีแล้ว โดยไม่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง นี่คือ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างหะดีษกับกรณีภาษีที่เราพูดถึง
ข้อสังเกตที่ห้า : หะดีษที่ส่งเสริมให้สงวนตัว
หะดีษที่สองที่กล่าวเพิ่มเติม เป็นหะดีษหนึ่งที่ส่งเสริมให้มุสลิมสงวนตัวไม่ให้ไปคลุกคลี หรือทำในสิ่งที่จิตใจไม่มีความสบายใจ เพราะความไม่แน่ใจ กลัวว่าจะเป็นสิ่งหะรอม หรือชุบหาต ซึ่งเป็นหลักการใหญ่หลักการหนึ่งที่มุสลิมสมควรจะยึดเป็น หะดีษที่สองที่กล่าวเพิ่มเติม เป็นหะดีษหนึ่งที่ส่งเสริมให้มุสลิมสงวนตัวไม่ให้ไปคลุกคลี หรือทำในสิ่งที่จิตใจไม่มีความสบลักษณะเฉพาะตัว แต่ถ้าหากพิจารณาหะดีษนี้กับปัญหาภาษีที่เรากำลังพูดถึงในฐานะที่เป็นมุสลิม และปัจเจกบุคคลจะยึดถืออย่างไร?
อิสลามให้เกียรติกับสิทธิส่วนตัว ฉะนั้นถ้าหากเราคิดว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องไปรับความช่วยเหลือจากรัฐในกรณีเกี่ยวกับเงินส่วนนี้ ก็เป็นสิทธิส่วนตัวที่คน ๆ นั้นพึงกระทำได้ และเป็นการดี เพราะความมีเกียรติของคนรับย่อมไม่เหมือนกับเกียรติของคนให้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องส่วนรวมก็ควรพิจารณาถึงหลักฐานและหลักการเป็นหลัก ไม่ใช่เอามิติส่วนตัวหรือความรู้สึกของตัวเองเข้าไปตัดสิน ซึ่งมิติส่วนรวม หรือมิติทางสังคม ต้องพึ่งกฎเกณฑ์ ระบบและอะไร ๆ อีกมาก ในเรื่องนี้ ศ.ดร.อับดุลมาญิดอันนัจญาร์ได้กล่าวว่า “อาจจะเป็นฮิกมะฮฺอย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงวางฐานกฎเกณฑ์ของสภาพสังคมที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นศูนย์อำนาจ บนมิติทางสังคม ด้วยการวางกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ถาวร และมั่นคง ฉะนั้นเป็นสิ่งที่อำนวยต่อระบบที่ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่สภาพสังคมที่คำนึงถึงความอยู่รอดของชนมุสลิมชนกลุ่มน้อยที่อยู่ภายใต้ของอำนาจรัฐที่ไม่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นศูนย์อำนาจที่มีสภาพทางปัญหาสภาพการเป็นอยู่ สภาพทางสังคมที่หลากหลายนี้ จึงสมควรใช้มิติทางสังคมที่อยู่ในรูปแบบของสภาพกว้าง ๆ ” (นะฮฺฮู ตะศิลฟิกฮี ลิลอะกอลิยาต อัล มุสลิมะฮฺ ฟี อัลฆอรบี : ศ.ดร.อับดุลมาญิด อัล นัจญารฺ : หน้า 2 )
4. การที่มีการกล่าวว่าตลอดประวัติศาสตร์สังคมมุสลิม บรรพบุรุษและนักปราชญ์อิสลามได้สร้างชื่อเสียงและจุดยืนต่ออบายมุขต่าง ๆ หากมุสลิมท่านใด (ตามทัศนะนี้) ได้ใช้กองทุน สสส. ปัจจุบันนี้ ก็เปรียบเสมือนกำลังทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรีและความบริสุทธิ์ของมุสลิม คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นจริงแค่ไหน ?
ตอบ: การเชิญชวนให้ทำความดีและการห้ามปรามในสิ่งทีชั่วร้ายเป็นหน้าที่ของมุสลิมชน และเป็นหลักการใหญ่หลักการหนึ่งที่มุสลิมพึงต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะหากอยู่ในรัฐและสังคมที่อยู่บนพื้นฐานการใช้กฎหมายอิสลาม หาไม่แล้วก็ถือว่ามุสลิมคนนั้น ขาดความรับผิดชอบ และไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐอิสลาม แต่กระนั้นก็ตามกฎหมายอิสลามก็ยังวางกรรมสิทธิ์หน้าที่ของบุคคลในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิด ฟิตนะฮฺ โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มิใช่มุสลิม ก็จะมีบรรทัดฐานทางกฎหมายที่แตกต่างจาก การมูอามาละฮฺกับมุสลิมด้วยกันเอง ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลาม แต่กับศาสนิกอื่น ปรากฏว่า ศาสนาอิสลามให้การยอมรับถึงความชอบธรรมในสิ่งเหล่านั้น ถึงแม้ว่าแน่นอนที่สุด กฎหมายอิสลามได้วางเงื่อนไข และกำหนดกรอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในสังคมที่รัฐอิสลามมีอำนาจอยู่ แต่สรุปแล้วกฎหมายอิสลามก็ให้โอกาสผ่อนคลายในเชิงกฎหมายกับสังคมของผู้ที่มิใช่มุสลิม ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม เช่นสุรา สุกร หากเป็นสิ่งที่สังคมของคนที่มิใช่มุสลิมยอมรับสิ่งดังกล่าวนี้เป็นทรัพย์ที่ชอบธรรม หรือเป็นการกระทำที่ชอบธรรมระหว่างพวกเขา กฎหมายอิสลามก็ให้การรับรองเชิงมิติทางสังคมของผู้ที่มิใช่มุสลิม ตราบใดที่สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ไม่มีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือตราบใดที่การกระทำเหล่านั้นไม่ไปสร้างปัญหากับสังคมส่วนรวม ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อยืนยันอย่างหนึ่งว่า กฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ เป็นกฎหมายที่ให้การยอมรับความแตกต่างและหลากหลายของกลุ่มชน ที่อาศัยอยู่ในรัฐของอิสลาม หากผู้อ่านต้องการรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ อะหฺกาม อะฮฺลลุลซิมมะฮฺ ของอิบนุ ก็อยยิม และหนังสือ อัลอัมวาล ของอบีอุบัยดฺ และหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของศาสนิกอื่นในรัฐอิสลาม ฉะนั้น การกล่าวอ้างของผู้ที่เห็นว่าการรับประโยชน์จากงบพัฒนา สสส. ของมุสลิมว่าเป็นการทำลายเกียรติ และประวัติอันดีงามของมุสลิมในมิติการห้ามปรามอบายมุขนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เกินความเป็นจริง เพราะนักปราชญ์อย่างอิหม่าม อะหฺมัด ท่านอิบนุก็อยยิม และนักปราชญ์อีกหลาย ๆ ท่านที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องกฎหมาย และเจตนารมณ์กฎหมายอิสลามคงจะฟัตวาเป็นอย่างอื่นหากการมองปัญหามองได้แค่ด้านเดียว โดยมองแค่มิติของมุสลิมเท่านั้น ส่วนสิทธิของศาสนิกอื่นที่อยู่ร่วมโลกถูกมองข้าม หากเข้าใจมิติที่กล่าวมาแล้ว คำตอบของปัญหาก็คือ มันไม่ใช่การทำลายเกียรติของตัวเอง ศาสนา หรือประวัติศาสตร์ แต่เป็นการอยู่ในกรอบของกฎหมายตราบใดที่กฎหมายอิสลามให้การยอมรับในสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น สรุปแล้ว การที่ผู้ที่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อนุมัติก็เป็นผู้ที่อยู่ในกรอบของกฎหมายอยู่ จึงเป็นการกล่าวที่เกินจริงหากผู้กล่าวอ้างอย่างที่ระบุในคำถาม มองในมิติทางสังคมและมองในกรอบของกฎหมายอย่างครบถ้วน
5. การเทียบเคียงกรณีภาษีสุรา ภาษีสุกรที่รัฐ จัดให้ สสส. ดำเนิน และบริหารส่วนนี้ กับทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาล (กระทรวงการคลังของรัฐอิสลาม) เป็นการเทียบเคียงที่ถูกต้องหรือไม่ ?
ตอบ: การใช้หลักการเทียบเคียงระหว่างกรณีดังกล่าวเป็นการเทียบเคียงไม่ตรงประเด็น
( กียาสมะอะฟาริก) เป็นการใช้หลักการเทียบเคียงที่ไม่ถูกต้อง เพราะกรณีของทรัพย์สินหะรอมที่เกิดพลัดหลงเข้าไปในบัยตุลมาลนั้น จำนวนของมันเข้าไปปะปนจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นทรัพย์สินบริสุทธิ์ อันไหนเป็นทรัพย์สินที่ต้องห้าม ฉะนั้น นักกฎหมายอิสลามจึงมีความเห็นตรงกันว่า ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดขึ้นในรัฐอิสลาม หรือในเมืองหนึ่งเมืองใดของรัฐอิสลาม ก็เป็นการอนุโลมสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในกรณีภาษีสุรา ภาษีสุกร ที่รัฐจัดให้กับ สสส. เป็นที่แน่นอนว่า มาจากทรัพย์สินที่เกิดจากสุรา และสุกร โดยไม่ต้องสงสัย ฉะนั้น การใช้หลักการเทียบเคียงดังกล่าว เป็นการใช้หลักการเทียบเคียงที่ไม่ถูกต้อง
และกรณีของทรัพย์สินหะรอมในบัยตุลมาลนั้น เกิดขึ้นโดยมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องในประเทศหรือรัฐที่ใช้กฎหมายอิสลามปกครอง ซึ่งแตกต่างจากกรณีภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีการพนันที่เก็บโดยรัฐบาลไทย เป็นการกระทำที่เกิดระหว่างพลเมืองที่มิใช่มุสลิมกับรัฐที่ปกครองที่ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของสังคมว่าชอบธรรม และกระบวนการก็ได้สิ้นสุดระหว่างพวกเขาแล้ว ฉะนั้น หากเอาประเด็นภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีการพนันที่เก็บโดยรัฐบาลไทย ไปเทียบเคียงกับทรัพย์สินหะรอมที่อยู่ในบัยตุลมาลจึงเป็นการเทียบเคียงที่ไม่ถูกต้อง เป็นการใช้หลักการกียาสที่มีเหตุผลแตกต่างกัน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบโดยหลักการวินิจฉัย
6. หากงบที่บริหารโดย สสส. ที่มาจากภาษีสุรา ภาษีสุกร ไม่ได้ใช้หลักการกียาสดังกล่าว การบอกว่างบดังกล่าวเป็นงบที่ชอบธรรม มุสลิมสามารถใช้ประโยชน์ได้ จะใช้หลักการใด ?
ตอบ: ผมคิดว่าคำตอบตั้งแต่หน้าแรกคงจะชัดเจนว่า การที่กฎหมายอิสลามให้การยอมรับถึงความชอบธรรมของการมูอามะละฮฺ ระหว่างผู้ที่มิใช่มุสลิมด้วยกันนั้นคือ คำตอบ ฉะนั้นกรณีนี้เป็นกรณีที่ต้องแยกประเด็นให้ชัดเจน และทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างรัฐอิสลามกับรัฐที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม และความแตกต่างของบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามกับบุคคลที่นับถือศาสนาอื่น ในบริบทความชอบธรรมในเชิงกฎหมาย ความชัดเจนก็จะเกิดขึ้น
สุดท้ายนี้ กระผมใคร่ขอเรียกร้องจากผู้รู้ในสังคมบ้านเราน่าจะจับเข่าพูดคุยกันและแสดงความคิดเห็นในเชิงสัมมนาวิชาการหรือประชุมหาความชัดเจนในระดับที่เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นและความสบายใจของมุสลิมในสังคมบ้านเรา เพื่อไม่ให้เกิดฟิตนะฮฺ ซึ่งกระผมเห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่ปัญหาซึ่งมีความละเอียดอ่อนอย่างกรณีนี้จะใช้เวทีทางสื่อหนังสือพิมพ์หรือสือทางอินเตอร์เน็ตเพื่อแสดงความเห็นหรือฟัตวา และขอให้อัลลออฮฺคุ้มครองทุกคน
วัสลาม
นายมะรอนิง สาแลมิง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น