เส้นทางแนวทางซาลาฟีในจังหวัดเชียงใหม่

เส้นทางซาลาฟี..ในเชียงใหม่


      ตามการสืบค้นและติดตามความเคลื่อนไหว พี่น้องชาวซาลาฟี หรือรู้จักกันทั่วไปว่า "คณะใหม่" เริ่มเข้ามามีบทบาทในเชียงใหม่เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว
          ยุคแรก ๆ เริ่มจาก ย่านชางคลาน ยุคนั้นมีโต๊ะครูที่มีพื้นเพเดิมอยู่ในจังหวัดภาคใต้ อาจารย์อิสมาแอล อะหมัด ผู้เป็นเจ้าของวาทะกรรมที่ว่า "ผู้ใดยกมือดูอาแล้วลูบหน้า เป็นผู้เขลาเบาปัญญา" เข้ามาเผยแพร่นี้แนวคิดนี้ ถือว่าเป็นผู้รู้ท่านหนึ่ง ที่ผู้คนในแนวทางนี้ให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน

ถือเป็นผู้รู้ท่านหนึ่งในยุคนั้น มีผู้รับแนวคิดนี้หลายท่าน เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่มาทำให้ศาสนาอิสลามให้บริสุทธิ์ ปราศจากบิดอะฮ์(สิ่งที่ประดิษฐ์ใหม่ อุตริกรรม) เมื่อแนวคิดนี้เริ่มขยายตัวมากขึ้น สิ่งแรกที่เกิดผลกระทบ คือ ละหมาดแปด กับ ยี่สิบในเดือนรอมฏอน มีถึงขั้น คณะเก่าดักตีหัวกลุ่มคณะใหม่ที่ละหมาดแปด เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากคนรุ่นเก่าที่เห็นเหตุการณ์
             นอกจากนั้นทางกลุ่มคณะใหม่ ยังมีต่อต้านเรื่องของการทำบุญบ้านคนตาย สามวัน เจ็ดวัน การจัดงานเมาลิด การอ่านกุรอ่าน การขอดูฮาในกุโบร์(และอื่นป่าช้า) ซึ่งคณะใหม่มองว่าพิธีกรรมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสียและเป็นการบิดเบียนหลักการของศาสนา มองว่าสิ่งดังกล่าวข้างต้นเป็นการประดิษฐคิดขึันมาใหม่ ในสมัยนบี และสมัย สาวก ตาบีอิด ตาบีอิน ไม่ได้กระทำ จึงถือว่า สิ่งเหล่านี้คือการอุตริกรรม ภาษาอาหรับเรียกว่า บิดอะห์


       แนวคิดนี้ ต่อยอดไปยังผู้อาวุโสตระกูลเก่าแก่ท่านหนึ่ง ในสายตระกูลเก่าแกย่านช้างคลาน ท่านเป็นคนจริงจังกับศาสนามากเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ สำคัญอยากให้พี่น้องได้หลุดพันจากสิ่งที่ผู้คนคิดค้นประดิษฐขึ้นมาใหม่ในศาสนา ท่านมีคัมภีร์อัลกุรอ่าน ชื่อกุรอ่านมะญิด ซึ่งแปลโดย ท่านอาจารย์อิบรอฮีม กุเรซี่  ท่านออกสอนแนวทางของคณะใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเชียงใหม่และลำพูน โดยเฉพาะหมู่บ้านหนองแบน หรือบ้านปิงหลวง เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาสู่ซุนนะห์แบบอย่างที่แท้จริงอันเป็นคำสอนของอิสลาม ท่านผลักดันให้ ลูกหลานคนหนองแบน ไปเรียนซุนนะห์ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็จะไปเรียนที่ศาสนวิทยาหนองจอก จนลูกหลานคนหนองแบนจบเมืองนอกเมืองนาหลายท่าน
      ชุมชนมัสยิดหนองแบนเป็นชุมชนมุสลิมในเชียงใหม่แห่งแรกที่รับเอาแนวทางของซาลาฟี กันอย่างเข้มแข็งเนื่องจากลูกหลานจบมาจากแถบอาหรับกันเยอะ มัสยิดแห่งนี้จึงเป็นมัสยิดแห่งแรกที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่รับแนวทางแห่งซาลาฟี ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่แนวคิดแห่งซาลาฟี่ และก็มีผู้คนที่มีอุดมการร่วมหลั่งใหลเข้าไปละหมาด และรวมกันเป็นกลุ่มซึ่งยุคนั้น ชุมชนแห่งนี้ถือได้ว่ามีจุดยืน ชัดเจน และเป็นฐานในการเผยแพร่แนวคิดนี้จวบจนปัจจุบัน
       ด้วยมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย พี่น้องชาวหนองแบนอพยพเข้ามาทำมาค้าขายในเชียงใหม่มากขึ้น ส่วนใหญ่มาอาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ และในมูลนิธิแสงทอง หรือเรียกสุเหร่าอันซอร จึงก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อรวบรวมผู้คนที่มีแนวคิดอุดมการณ์ อากีดะห์เดียวกัน มีการเชิญอาจารย์จากกรุงเทพฯ มาบรรยายให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ เป็นศูนย์ธรรมอิสลาม จำชื่อไม่ได้ ซึ่งขึ้นตรงกับ อ.ชาฟาอี นภากร ผู้บุกเบิกแนวคิดซาลาฟีที่กรุงเทพ เป็นหัวหน้าสำนัก ซึ่งยุคนั้นน่าจะเป็นยุคทองของศูนย์กลางที่สามารถสร้างสาขาหรือศูนย์ธรรมอิสลามผู้ใหญ่ได้ทั่วประเทศ


   เมื่อยุคหนองแบนเริ่มอ่อนตัวลง ฐานการทำงานของชาวซาลาฟี่ จึงมาเป็นที่อัลซอรี ซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองของมัสยิดภายใต้มูลนิธิแห่งนี้ มัสยิดหนองแบนก็ถูกลดความสำคัญในการรวมตัวของชาวซาลาฟี่ 
       และแล้วเหตุการณ์อันเศร้าสลดก็เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวซาลาฟี่แห่งนี้เหมือนฟ้าฟาดอยู่กลางหัว เมื่อเจ้าของมูลนิธิแห่งนี้จะขายมัสยิดและบ้านคนยากจนให้กับโรงแรมดัง โดยมีโต๊ะครูผู้รู้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านในจังหวัดให้การสนับสนุน โดยมีคำสัญญากับคนในพื้นที่ว่า จะไปสร้างที่ใหมไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก ชาวบ้านรุกฮือต่อต้านการขายมัสยิด ได้มีแกนนำจากต่างพื้นที่และในพื้นที่ขอสงวนนาม เข้ามาร่วมประท้วงและให้การช่วยเหลือ ท้ายสุดเจ้าของมูลนิธิฯ ก็มิอาจขายมัสยิดได้ 


    กรณีนี้เป็นเหตุให้พี่น้องซาลาฟี่ ต้องจำเป็นย้ายฐาน โดยมีโกตี๋ หรือคุณสุจิต ตรงเพียรเลิศ นักธุรกิจจัดสรรค์ที่ดินผู้ก่อตั้งหมู่บ้านสันติ ชวนพี่น้อง ที่ไร้ที่อยู่อาศัย หลังจากเหตุการณ์คัดค้าน การขายมูลนิธิฯ หลายคนไร้ที่อยู่อาศัย ไปอาศัยในพื้นที่ธรณีสงฆ์ที่ท่านได้เช่าไว้ ท้ายหมู่บ้านจัดสรร เริ่มจากไม่กี่ครอบครัว เข้าไปไถ่ถางเพี่อเป็นที่อยู่อาศัย เรียกพื้นที่นี้ว่า บ้านไผ่ล้อม เนื่องจากมีต้นไผ่ขึ้นรายล้อมในพื้นที่ อยู่อาศัย จากไม่กี่หลัง พี่น้องจากหมู่บ้านอัลซอรี ก็เริ่มทะยอย เข้ามาขอแบ่งที่ดินเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย.เมื่อคนเริ่มมากขึ้น ความมั่นคงเริ่มมีให้เห็น แกนนำในยุคนั้น ก็เริ่มคิดในการรวมกลุ่มสลัฟให้กลับมารวมกันอีกครั้ง ช่วยกันสร้างบาแลเพื่อร่วมกันทำอิบาดัต คนละไม้คนละมือ ใครมีน้อยช่วยน้อยมีมากให้มากตามกำลัง ถือเป็นยุคที่พี่น้องชาวสลัฟรักใคร่สามัคคีกัน มีการเชิญ อาจารย์จาก กทม.มาบรรยายศาสนากันอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนถึงขั้นคิดสร้างศูนย์สลัฟขึ้น ให้มีอาคารถาวร รวบรวมเงินบริจาค จนได้ที่ดินมาแปลงหนึ่ง เพื่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้และเผยแพร่ซุนนะห์



        ด้วยตักดิรแห่งอัลลอฮ์ เมื่อมีที่ดินแล้ว สิ่งที่ต้องการของชาวสลัฟกลุ่มนี้คืออาคาร อัลฮัมดุลิลลา มีเงินก้อนหนึ่งที่ผู้ใจบุญจากต่างประเทศจะสร้างมัสยิดขึ้นในชุมชนมุสลิมขนส่งซอย 9 หนองหอย แต่เนื่องจากที่ดินเป็นที่ดินของเทศบาล หาใช่กรรมสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฏหมายไม่ ทางแกนนำบ้านใผ่ล้อมจึงประสานอิหม่ามอับดุลเราะห์มานห์ พงษ์มณี ขอโยกเงินก้อนนี้ มาสร้างอาคารศูนย์เผยแพร่ซุนนะห์ สุดท้ายก็ได้เงินมาสมประสงค์ แต่ด้วยเงื่อนไขของผู้บริจาคเงินซื้อที่ดินเงินจำนวนนี้ ต้องสร้างมัสยิดเท่านั้น จากศูนย์เรียนรู้ ต้องสร้างมัสยิด จึงมีการดำเนินการ ผ่านไปยัง กอจ.เชียงใหม่ ขอจดทะเบียนมัสยิด การดำเนินการมีอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่การขอจดทะเบียน การร้องเรียนของผู้คนในหมู่บ้านทำให้มัสยิดดำเนินการไม่ราบรื่นมากนัก แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ อุปสรรคทั้งหลายก็ผ่านพ้นไปด้วยดี


       มัสยิดดารุลบิรยุคนั้น จึงกลายเป็นศูนย์กลางของพี่น้องซาลาฟี แห่งใหม่ ขึ้นมาในเชียงใหม่ มีกิจกรรมทางศาสนา ส่วนใหญ่จะเน้นการบรรยายสร้างความเข้าใจในแนวทางสลัฟ มีผู้คนที่มีแนวคิดแนวกันร่วมเรียนร่วมสอนกันอย่างต่อเนื่อง เสมอมา
        และแล้วก็มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่อีกหลังหนึ่ง เรัยกชื่ออย่างเป็นทางการว่า มัสยิดะวะตินอิสลาม ซึ่งคนผลักดันที่สำคัญสุด คือ ลุงไบ๋ซูฟี อาวุโสใหญ่ ของกลุ่มดาวะฮ์ตับลีฆ ได้รวบรวมรวมเงินทองจากคนในกลุ่ม ซื้อที่ดินและสร้างมัสยิดหวังจะสร้างให้เป็นมัรกัตของพี่น้องดาวะฮ์ตับลีฆ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามความประสงค์ เนื่องจาก อาคารมัสยิดไม่แล้วเสร็จ จึงประสาน คุณฮัมซะ งามสมชาติ ผู้กว้างขวางท่านหนึ่งในพื้นที่ประสานงานทางต่างประเทศนำเงินมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จ พอมัสยิดเปิดใช้ก็จดทะเบียนเป็นของมูลนิธิศรัทธาชน ซึ่งมีกลุ่มดาวะฮ์ตับลีฆเป็นเจ้า ของและจัดตั้งคนของกลุ่มเข้ามาดูแล แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ ทำงานขับเคลื่อนดูแลมัสยิดอยู่ เข้ามาบริหาร และจัดซื้อที่ดิน ติดกับมัสยิดประมาณ สามสิบตารางวา บางกลุ่มก็บอกว่า การซื้อที่ดินติดกับมัสยิดเพื่อหวังให้มีสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินอาจสามารถจดทะเบียนมัสยิดได้ จึงสร้างความไม่พอใจกับกลุ่มผู้บริหารเดิม เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้น จนสุดท้ายทางผู้บริหารชุดเดิมจึงถอยออกเป็นลดความขัดแย้ง กลุ่มใหม่ จึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมากลุ่มหนึ่งเพื่อดูแลมัสยิด โดยมีนายอำมาตย์ ลาวัง มุสลิมจาก กทม.สายสลาฟี ซึ่งมาทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งขึ้นเป็นประธาน และแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยกันดูแล ให้เป็นรูปธรรม แต่สิทธิการเป็นเจ้าของยังคงเป็นของมูลนิธิศรัทธาชน (ดาวะห์ตับลีฆ) เช่นเดิม


       เมื่อภารกิจอุปสรรค์ผ่านพ้นไป คณะผู้บริหารชุดใหม่ จึงเริมมีการจัดบรรยาย เปิดจุดยืนชัดเจนว่า มัสยิดแห่งนี้ยึดแนวทางสลาฟี เป็นสรณะ ผู้คนสายเดียวกันเห็นความเข้มแข็ง ของผู้บริหารประกอบกับ มีอาจารย์ผู้รู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยมาดีนะห์  ประเทศซาอุดีอาระเบีย มาให้ความรู้ที่นี่อย่างต่อเนื่อง ชาวสลัฟกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่ จากมัสยิดดารุลบริ ก็เริ่มย้ายตัวเอง ไปรวมกลุ่มกันที่ มัสยิดดาวะห์ตินมากขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของพี่น้องสลัฟ ในยุคนั้น ซึ่งมีกิจกรรมบรรยายพิเศษ นำ อ.จากนอกพื้นที่ มาบรรยายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ 
       แน่นอนที่ใดมีรักที่นั่นย่อมมีทุกข์ ทุกพื้นที่ที่กล่าวผ่านมา ย่อมมีคนที่คิดต่าง คนที่เคร่งครัด ในแนวทางนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ต่างคนก็ต่างยืนยันหลักฐาน และอาจารย์ที่ตนได้ร่ำเรียนมา จึงมีการเกิดเป็นกลุ่ม ขึ้นมา หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มห้องสมุดฯ บางกลุ่มก็จัดการเรียนการสอนที่บ้านของตนเอง ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็ถือว่างานของชาวสลัฟเฟื่องฟูหาที่เรียนและมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีผู้ที่เรียนจบมาจากตะวันออกกลางจะเป็นแกนนำในการให้ความรู้แก่สานุศิษย์ ในการเรียนรู้อิสลามที่ถูกต้องตามแนวทางสลัฟ เพื่อให้ได้รับความรีฎอพอพระทัย ของอัลลอฮฺ ซุบฮาฯ 
        การตั้งข้อสังเกต ในกลุ่ม ที่เรียกตนเองว่าสลัฟ ไม่สามารถรวมตัวกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ ได้ ด้วยอาจการไม่รับความต่างของกันและกัน หรือไม่มีผู้นำอย่างแท้จริงในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ จึงขาดความเป็นเอกภาพ ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองกับสังคมมากนัก ส่วนใหญ่จะตั้งกลุ่ม ตั้งฮาลาเกาะฮ์ การเรียนรู้ ของตนเองขึ้นมา  หลายคนไม่อยู่ในสถาบันการศึกษา และไม่ยุ่งเกี่ยวกับองค์กรภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายโอกาส เสียดายความรู้ที่ร่ำเรียนมา ถูกเผยแพร่อยู่เฉพาะกลุ่ม 

      บทความนี้เป็นเพียงข้อสังเกตและมุมมองของผู้เขียนซึ่งพอได้ติดตามการขับเคลื่อนของกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผิดพลาดประการใดยินดีแก้ไข และขอมาอัฟ มา ณ ที่นี้..ขออัลลอฮฺเมตตาทุกท่าน

ความคิดเห็น