มุสลิมทำงานเกี่ยวกับนักข่าว หาข่าวเรื่องชาวบ้านได้หรือไม่จรรยาบรรณ /จริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์


มุสลิมทำงานเกี่ยวกับนักข่าว หาข่าวเรื่องชาวบ้านได้หรือไม่



       ผมว่าคนถาม ก็น่าจะทราบคำตอบ ไม่ทราบเจตนา ต้องการอะไร  ผมไม่ตอบในทัศนะของศาสนา เพราะไม่มีความรู้ อันตราย แต่ขอเอาทัศนะ ของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ซึ่งได้มาจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=453498 น่าจะเป็นการตอบที่ครอบคลุม ทั้งในกรอบ ของศาสนา หรือ จรรยา ของ ผู้คนที่นำเสนอข่าว
         เป็นมุมมองนะครับอาจจะไม่ตรงประเด็นที่คุณถาม ไม่ใช่ก็คิดว่าใกล้เคียง อ่านดูแล้วก็ลองคิด เอาเอง ก็แล้วกันว่า มุสลิม ทำงานเกี่ยวกับกับข่าว หาข่าวเรื่องชาวบ้านได้หรือไม่ อ่านจบแล้ว ขอถามกลับจำเป็นไหม ที่มุสลิม ต้องมี การแลกเปลี่ยนข่าวสาร จำเป็นใหมที่มุสลิมจะต้อง มีนักข่าว?
        สื่อมวลชน พึงน้อมรับหลักจริยธรรมในการนำเสนอข่าว ของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ มาเป็นแนวทาง
อาจารย์สุภา ศิริมานนท์  ปรมาจารย์ด้านหนังสือพิมพ์ได้เสนอหลักจริยธรรมในการเสนอข่าวไว้อย่างน่าสนใจ สื่อมวลชนที่กำลังหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงบล็อกเกอร์ นักข่าวอาสา และบรรดาผู้ที่เผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อ พึงสังวรณ์และน้อมรับมายึดถือเป็นแนวทางในการนำเสนอ จำนวน ๔ หลัก ดังนี้
๑. หลักว่าด้วยความจริงแท้ (Objectivty)              
          นักหนังสือพิมพ์ย่อมได้รับความคาดหวังจากผู้อ่านทั่วๆ ไปว่า คำบอกเล่าข่าวสารที่เขารายงานจะหมดจด ครบถ้วน ไม่ลำเอียง ไม่ว่าจะเป็นแง่ใดของข่าว นั่นคือ คาดหวังว่าเขาจะไม่สอดแทรกทัศนะส่วนตนหรือความรัก ความชัง ส่วนตัว ไปในรายงานข่าวนั้นๆ ลักษณะใหญ่ของสิ่งที่เรียกว่าความจริงที่แท้จริงได้แก่
                     ๑.๑ ความไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย (Impartiality)     หากการรายงานข่าวชิ้นที่เสนอนั้นเกี่ยวกับความขัดแย้งกันของฝ่ายต่างๆ สองฝ่ายหรือหลายฝ่าย นักหนังสือพิมพ์ผู้เสนอรายงานต้องเสาะหาทรรศนะต่างๆ ของทุกฝ่ายมาเสนอให้หมดและต้องเสนอด้วยความสมดุลอย่างมีเหตุผล
                     ๑.๒ ความปราศจากข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์ (A Sence of Conflict of Interest) การมีส่วนพัวพันโดยมีมูลเหตุหรือโดยมีจุดมุ่งหมายกับองค์การแห่งใดแห่งหนึ่ง ย่อมทำให้เป็นกรณีที่หมิ่นเหม่มากที่นักหนังสือพิมพ์นั้นๆ  ต้องถูกสงสัยว่าเขาจะสังกัดเป็นฝักเป็นฝ่าย ดังนั้นหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จึงไม่สมัครใจที่จะเข้าร่วมอยู่ในองค์กรใดๆ
                     ๑.๓ โอกาสของการปฏิเสธ (Opportunity of Denial) หากจะเสนอข้อกล่าวหาก็จะต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาแสดงข้อปฏิเสธของเขาด้วย ถึงแม้ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ จะเป็นคนร้ายชนิดร้ายกาจเท่าใดก็ตาม ทั้งนี้เพราะการกล่าวหานั้นๆ ยังไม่ใช่พิพากษาของศาลสถิตยุติธรรม
                     ๑.๔ การละเว้นจากความลำเอียงของผู้ใกล้ชิด (Avoidance of Croyism) นักหนังสือพิมพ์ พึงระมัดระวังให้หนักแน่น ในการติดต่อพัวพันอย่างใกล้ชิดกับแหล่งข่าวตลอดเวลา เพราะความสัมพันธ์ส่วนบุคคลจะทรงอิทธิพลครอบงำการรายงานข่าวได้
                     ๑.๕ การละเว้นจากความเครียดแค้นพยาบาท (Avoidance of Vengeance) ความชิงชังเป็นส่วนบุคคล อาจกลายเป็นเครื่องกีดขวางในการทำข่าวเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ จะเป็นผลให้การทำข่าวไม่เป็นผล ทำให้หลักการที่ว่าด้วย “ความจริงที่แท้จริง” เลือนรางลงหรือซวดเซลง นับว่าเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติงาน
          ๒. หลักว่าด้วยความสัตย์จริง (Honesty)  
                     พฤติการณ์ของนักหนังสือพิมพ์ประเภทที่เขียนข่าวเอาเอง หรือ ยังมีการกระทำผิดๆ ชนิดไร้จริยธรรม ไร้ยางอาย อีกมากมาย ผลของการประพฤติผิด นับว่าเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความเสียชื่อเสียงเมื่อถูกจับได้ หลักการทางจริยธรรมได้กำหนดลงไว้เกี่ยวกับกรณีความสัตย์จริง ๒ ประการ คือ
๒.๑ ต้องเสนอรายงานข่าวที่เป็นจริง ไม่ใช่เสนอนิยาย
๒.๒ นักหนังสือพิมพ์ต้องรักษาวาจาที่ได้ให้คำมั่นหรือที่ตกปากลงคำกับใครเขาไว้ หากนักหนังสือพิมพ์ได้รับปากกับผู้ให้ข่าวสารไม่ว่ารายงานใด ว่าจะไม่เสนอรายงานข่าวเรื่องนั้นในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ก็จะต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานั้นๆ อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ
          ๓. หลักว่าด้วยความบังควรและไม่บังควรซึ่งมนุษย์พึงปฏิบัติต่อมนุษย์
                     หลักจริยธรรมหนังสือพิมพ์ข้อนี้ จะเป็นปัญหาเรื่องอคติลำเอียง ๓ ประการ คือ
          ๓.๑ ปัญหาเกี่ยวกับความลำเอียงต่อคนต่างเชื้อชาติหรือต่างภาษา       อย่าใช้คำเรียก หรือคำอ้างถึงชนกลุ่มน้อยใดๆ ในลักษณะการโจมตี หยาบคายตำหนิ เสียดสี นอกจากนี้ ในการเสนอรายงานข่าวหรือในการแสดงทัศนะของหนังสือพิมพ์ต้องระบุเฉพาะตัว ไม่กระทบต่อเชื้อชาติหรือพื้นเพของผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันควรระมัดระวังให้มากในการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับสตรีด้วยในทำนองเหยียดหยาม ถากถาง เป็นต้น
                     ๓.๒ ปัญหาเกี่ยวกับความลำเอียงต่อคนต่างศาสนา      นักหนังสือพิมพ์ต้องไม่วิพากษ์เกี่ยวกับศาสนา หรือมีวิธีเอาศาสนามาทำเป็นเรื่องขบชันหรือเยาะหยัน และเมื่อจะเขียนถึงศาสนาใด ๆ หรือผู้นำทางศาสนาก็ต้องระบุตำแหน่งและสมณศักดิ์ให้ถูกต้องเคร่งครัด
                     ๓.๓ ปัญหาเกี่ยวกับความน่าชิงชัง   นักหนังสือพิมพ์ต้องใช้ถ้อยคำให้เหมาะสม ไม่ใช้ถ้อยคำที่แสลงต่อศีลธรรม หรือถ้อยคำใดที่จะทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกเดียดฉันท์หรือสะดุ้งในความหมายที่ไม่สมควรใช้
          ๔. หลักว่าด้วยการลอกคัดเรื่องของคนอื่นแล้วก็ทึกทักเอาเป็นของตัว (Plagiarism)  การขโมยลอกคัดคำบอกเล่าข่าวสารหรือเรื่องของคนอื่น แล้วก็ทึกทักเอาเป็นของตนนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ขัดหลักจริยธรรมอย่างชัดเจน ได้แก่ การ “ลอกคัด” จริงๆ ไม่ว่าจะลอกคัดแต่เพียงเฉพาะส่วนสาระสำคัญหรือไม่ว่าจะลอกคัดทั้งดุ้น ลอกคัดชนิดคำต่อคำ แล้วก็ใส่ชื่อของตนเองลงไปโดยทึกทักว่าตนทำเรื่องนั้นขึ้น
ที่มา   http://www.oknation.net/blog/print.php?id=453498


ฝากไว้อีกบทความครับ ก็เป็นบทความที่น่าเป็นประโยชน์ในการพิจารณา ตัดสินใจได้ว่า จะเป็นนักข่าวได้หรือไม่

จรรยาบรรณ /จริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์
ดำเกิง เสพย์ธรรม
           โดยปกติแล้ว คนทั่ว ๆ ไป คิดว่าถ้าอ่านออกเขียนได้ ก็เป็นนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวได้ แต่ความจริงแล้วไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดกัน เพราะการทำหนังสือพิมพ์หรือการเป็นนักหนัง สือพิมพ์ต้องมีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างในตัว  แม้แต่ผู้ที่เรียนโดยตรงมาทางด้านนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นนักหนัง สือพิมพ์ที่ดีได้เสียเมื่อไหร่ แต่ผู้ที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้กลับเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดีได้ ทั้งนี้เพราะว่าเขามีจิตวิญญาณในการค้นหาความจริงเสนอต่อประชาชน ไม่ใช่แต่จับปากกาดินสอเขียนได้ก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ /นักข่าว และสิ่งที่สำคัญในการเป็นนักหนังสือพิมพ์ / นักข่าว คือความรับผิดชอบต่อสังคมและความมีจริยธรรมซึ่งเป็นหัวข้อที่กว้างและแต่ละบุคคลย่อมมีทัศนะคติต่างกันออกไปแล้วแต่คุณธรรมและค่านิยมของแต่ละบุคคล

          เมื่อพูดถึงเรื่องของคุณธรรม/จริยธรรมและค่านิยมของแต่ละบุคคลนั้นยากที่จะจำกัดวงและขอบเขต เพราะเรื่องของคุณธรรมหรือจริยาธรรมและค่านิยมนั้นมักจะฝังรากในตัวบุคคลมาแต่เด็กภายในครอบครัว( Elkind,David-1986) ซึ่งพ่อแม่ได้ถ่ายทอดให้มาโดยที่ลูกๆเรียนรู้จากการสังเกตและประสบการณ์ชีวิตขณะเติบโต  แต่บุคคลบางคนได้เรียนรู้จริยาธรรมและค่านิยมจากสิ่งแวด ล้อมและประสบการณ์นอกบ้านก็มีมาก  บุคคลเหล่านี้มักจะมีความสับสนในตัวเองช่วงแรก ๆ ที่รับจริยธรรมและค่านิยมใหม่นอกเหนือไปจากที่เคยได้รับภายในครอบครัว  เขาจะต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักประสบการณ์ของจริยธรรมและค่านิยมใหม่ที่ได้รับ เขาจะต้องใช้พิจารณาญาณและจิตวิญญาณของเขาในการเลือกจริยธรรมและค่านิยมใหม่  เขาจะต้องชั่งน้ำหนักว่าจะรับสิ่งที่ได้รับมาใหม่หรือไม่ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล( Scharff, Jill S,1989) .

             ในที่นี้จะพูดถึงจริยธรรมและค่านิยม ของนักหนังสือพิมพ์ / นักข่าว  โดยหลักทั่วไปแล้ว คนหนังสือพิมพ์นั้นจะต้องตั้งอยู่บนความมีอิสระเสรีภาพ,ไม่มีความผูกพันกับใครโดยเฉพาะ แต่เขาต้องผูกพันกับสังคมเป็นใหญ่ หมายถึงเขาจะต้องนึกถึงผลประโยชน์ของสังคมก่อนอื่น เขาจะต้องยอมเสียผลประโยชน์ของตนเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ, เขาต้องมีความสุจริต,ซื่อตรงและยอมรับผิดหากผิด มีความเที่ยงธรรม ไม่เข้าข้างพวกตนเมื่อพวกตนผิด  ไม่ปล่อยข่าวลือต้องพยายามหาต้นตอของข่าว หากหาไม่ได้ถึงต้นตอก็ต้องหาให้ใกล้มากที่สุดที่จะทำได้

นักหนังสือพิมพ์จะต้องค้นหาสาระที่แท้จริงของเรื่องและเสนอเนื้อข่าวที่แท้จริงต่อประชาชน ไม่เขียนข่าวยกยอปอปั้นพรรคพวกโดยมีไม่เหตุสมควร อย่างมีนักข่าวเขียนยกยอหมอคนหนึ่งว่าเป็นหมอเทวดาข้อความนี้เกินกว่าเหตุ เป็นการผิดจริยธรรมและขาดความเที่ยงตรง เพราะคำว่าเทวดาตามพจนานุกรมนั่นหมายถึงผู้ที่อยู่บนสวรรค์มีหูพิทย์ตาทิพย์ กินของทิพย์ จะเห็นได้ว่าผู้เขียนขาดจริยธรรมและขาดความซื่อตรงต่อสังคม เป็นการหลอกลวงและบิดเบือนสังคม (กรณีนี้หมอคนนั้นอาจจะมีความสัมพันธ์ช่วยเหลือส่วนตัวให้แก่ผู้เขียนก็ได้ จะเห็นว่าผู้เขียนไม่ได้เขียนเพื่อสังคมแต่เพื่อตัวเอง)  การเขียนข่าวว่าใครคนใดคนหนึ่งทำคุณ ประโยชน์ให้สังคมนั้น ต้องเขียนพอเหตุพอผลสมน้ำสมเนื้อไม่เกินไปกว่าเหตุและผล ต้องสังเกตุว่าการกระทำของบุคคลคนนั้นเป็นเพียงผักชีโรยหน้าเพื่อจะให้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อชื่อเสียงของตนหรือเปล่า ?

บางกรณีผู้เขียนข่าวว่าคนนั้นคนนี้ดีเด่นเช่นหนุ่มไฟแรง.... สาวไฟแรง... มีมนุษย์สัมพันธ์ดีต่อสังคม.....การเขียนข่าวอย่างนี้ไม่เที่ยงตรงนัก เพราะหนุ่มไฟแรงนั้นมีคำกำจัดความว่าอย่าง ไร? ส่วนการที่ว่ามีมนุษย์สัมพันธ์ดีต่อ....นั้นเป็นความเห็นส่วนตัวที่ได้รับจากบุคคลคนนั้น  แต่โดยทั่วไปแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น ตัวอย่างเช่นหากว่าท่านไปใช้บริการโดยที่บุคคลคนนั้นไม่รู้ว่าท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ท่านอาจจะได้รับการต้อนรับต่างกับตอนนี้ที่เขารู้ว่าท่านเป็นนักหนัง สือพิมพ์ ฉะนั้นข้อเขียนยกยอปอปั้นเช่นนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  อาจจะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบิดเบือนภาพจน์อันแท้จริงก็ได้  ซึ่งอาจจะกลายเป็นการหลอกสังคม- ผิดจริยธรรมและขาดความเที่ยงตรงไปก็ได้

            การเขียนข่าวจะต้องมีขอบเขตกว้าง ไม่ใช่มีข่าวและเหตุการณ์อยู่แต่เฉพาะวงธุรกิจเดียว หรือกลุ่มคนกลุ่มเดียว นักหนังสือพิมพ์ที่ดีต้องเจาะแสวงหาข่าวมาเสนอต่อประชาชนในแง่และมุมต่างๆไม่เลือกเฉพาะกลุ่มที่ตนได้ผลประโยชน์หรือพวกพ้อง จะต้องเสนอข่าวโดยทั่วไปหากว่ามีรายงานเข้ามาและข่าวมีสาระน่าสนใจ  แต่ข่าวบางข่าวก็ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาเพราะเป็นข่าวที่ได้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มคนกลุ่มเดียว

             และแหล่งข่าวไม่รายงานก็ไม่จำเป็นต้องเสาะแสวง  ด้วยเหตุนี้นักหนังสือพิมพ์จึงเป็นฐานันดรสี่( Fourth Estate) ซึ่งมีหน้าที่แสวงหาความจริงเสนอแก่ประชาชน ดังบทความตอนหนึ่งใน The Wall Street Journalวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ชี้ย้ำให้ระลึกถึงหน้าที่ของนักหนังสืออีกครั้งว่า.....it to reminds us that the Fourth Estate’s first duty is to report the facts.”

             นักหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ยกตัวอย่างการออกข่าวของหนังสือนิตยสารนิวสวีค เกี่ยวกับการฉีกคัมภีร์กุระอานแล้วทิ้งในโถส้วม นั่นเป็นการถูกต้องหรือเปล่า? เรื่องนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ซึ่งอยู่ที่ค่านิยมและจริยธรรมของสำนักหนังสือพิมพ์และนักข่าว เพราะมีข้อโต้เถียงไปต่างๆนานา ดูเหมือนจะไม่มีใครถูกและใครผิด  เพราะเป็นเรื่องของค่านิยมและจริยธรรม ฝ่ายที่ยึดถือหลักการว่าหนังสือพิมพ์มีอิสรเสรีภาพในการเสนอข่าวให้ประชาชนรู้ความเป็นไปในการปฏิบัติงานของทหารในยามสงครามก็ถูก  เพราะนั่นคือหลักการหนึ่งของหนังสือพิมพ์ที่ต้องเสนอข่าวคราวความเป็นไปต่อสังคม  

อย่างไรก็ตามหากจะมองอีกมุมที่ว่าหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดชอบต่อความมั่นคงของประเทศชาติและความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อน  ฉะนั้นการเสนอข่าวออกไปก็ถือว่าผิดจริยธรรมและขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะผลตามมาทำให้เกิดโกลาหลประท้วงในหมู่ประเทศอิสลามทั่วโลก เกิดการลอบทำร้ายทหารที่ปฏิบัติการในสงครามมากขึ้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของชาวอเมริกันผู้ไร้เดียงสาที่อาศัยและทำงานในประเทศอิสลามมากขึ้น ฉะนั้นจะเห็นได้ว่านักหนังสือพิมพ์จะต้องใช้พิจารณาญาณในแต่ละกรณีของข่าว  ซึ่งมักจะดลบันดาลจากค่านิยมและจริยธรรมและจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล

หลักการอีกอย่างคือนักหนังสือพิมพ์ต้องปกป้องแหล่งข่าว  เพราะข่าวบางอย่างแหล่งข่าวไม่อยากให้บอกว่ามาจากไหน เราต้องเคารพและเคร่งครัดในแหล่งข่าว ดังจะเห็นได้ยินบ่อยครั้งในกรณีข่าวใหญ่ๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์มีผลกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติงานของราชการ และบริษัทใหญ่ๆต้องขึ้นศาล บางครั้งศาลจะเรียกตัวนักหนังสือพิมพ์ไปให้การด้วย  และจะพยายามคาดคั้นว่าได้ข่าวมาจากใครที่ไหนนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในจริยาธรรมจะปฏิเสธที่จะเปิดเผยแหล่งข่าว เพราะเขาถือว่าเป็นสิทธิ์ของเขาที่รักษาในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อแหลงข่าวว่าจะไม่ยอมเปิดเผย

มีนักหนังสือพิมพ์หลายคนยอมติดตะรางเพราะไม่ยอมร่วมมือกับศาลโดยไม่เปิดเผยแหล่ง ข่าวอย่างข่าวเร็วๆนี้เกี่ยวกับเรื่อง “ Deep Throat” เป็นข่าวเปิดเผยคดี “ Water Gate” ซึ่งทำให้อดีตประธานธิบดีริชชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะว่าสองนักหนังสือพิมพ์ นายBob Woodward และ นายCarl Bernstein จากหนังสือพิมพ์ Washington Post  ได้ข่าวมาจาก นาย Mark  Felt  ผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเอ็ฟ.บี.ไอ. ขณะนั้นเป็นผู้ชี้จุดในการค้นข่าว  

นักข่าวทั้งสองได้สัญญาต่อนายมาร์ก เฟลท์ ว่าจะไม่เปิดเผยแหล่งข่าวเด็ดขาดไม่ว่าจะเกินอะไรแก่เขาจนกระทั่งนายเฟลท์ตาย เขาทั้งสองได้รักษาคำพูดจนบัดนี้ แต่เมื่อเร็วๆนี้(1 มิถุนายน 2005)  นี้มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่านายเฟลท์ วัย 91 ปี ได้เป็นผู้เปิดหน้ากากตัวเองว่าตนคือ “Deep Throat”เป็นผู้บอกความลับเกี่ยวกับเรื่องของวอเตอร์เกตถึงกระนั้นก็ตามนายบ็อบ วู้ดเวิร์ด และนายคาร์ล เบิร์นสะตีน  ยังรีรอที่จะยืนยันเรื่องราวซึ่งเขาทั้งสองได้ปิดแหล่งข่าวมากว่า 30 ปี ตามที่นิตยสาร“ Vanity Fair” ตีพิมพ์  
ผลของการไม่รักษาคำมั่นสัญญาของแหล่งข่าวจากกรณี ของคอนนี่ ชัง นักข่าวและผู้อ่านข่าวภาคค่ำของสถานียักษ์ใหญ่ ซี.บี.เอส. ของอเมริกา เมื่อครั้งที่เธอถามอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา บาร์บาร่า บุช ถึงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวสุขภาพสตรีหมายเลขหนึ่งขณะนั้นฮิลราลี่ ร็อดแฮน คลินตัน เธอบอกว่าเป็นเรื่องลับระหว่างสองคน แต่แล้วทางสถานีนำออก อากาศ ผลคือ คอนนี่ ชัง ขาดความเคารพนับถือในหมู่นักข่าวและประชาชนโดยทั่วไปไม่มีใครนิยมรายการของเธอเหมือนแต่ก่อน ในที่สุด คอนนี่  ชัง  ก็ต้องออกจากตำแหน่งนั้นไป

         ต่อไปนี้เป็นหลักจรรยาบรรณ /จริยธรรมและหลักการง่ายๆ 7  ข้อ ที่นักหนังสือพิมพ์ควรยึดเป็นแนวทางปฏิบัติในการเป็นนักหนังสือพิมพ์”  

 1) ความรับผิดชอบ ( Responsibility) – หลักใหญ่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมก่อนอื่น ปกปิดแหล่งข่าว และปกป้องความเสียหายของประเทศชาติ
 2) ความเป็นอิสระหรือเสรีภาพ ( Freedom) นักหนังสือพิมพ์ต้องเป็นตัวของตัวเอง อิสระและเสรีภาพแต่เสรีภาพต้องรู้จักขอบเขตและความจำกัด
  3) ความไม่ผูพันกับใคร (Independence) – นักหนังสือพิมพ์ต้องไม่ผูกพันกับใครเป็นการส่วนตัว แต่ดูเหมือนจะยากเพราะเรามีพ่อแม่พี่น้อง ครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง ผู้มีพระคุณฯลฯ ฉะนั้นเราต้องใช้ดุลยพินิจอย่างสูงว่าแค่ไหนเพียงใด บทความของอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ท่านยกพุทธภาษิตตอนหนึ่งว่านอนเสียตลอดวัน ไม่ทำอะไรเลย ยังดีกว่ากระทำบาป แม้เพียงอย่างเดียว.... แต่ถ้าจะต้องทำ ต้องยอมให้ตนเป็นคนเสียประโยชน์ เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้อ่านไว้ให้ได้ ....
 4) ความสุจริตหรือความจริงใจ ( Sincerity)นักหนังสือพิมพ์ต้องเสนอความจริง ถ้าผิดพลาดก็ต้องยอมรับผิด ไม่ตั้งตัวเป็นผู้รอบรู้ไปเสียหมด
 5) ความไม่เข้าใครออกใคร(Impartiality)นักหนังสือพิมพ์ต้องตั้งอยู่บนความเที่ยงธรรม ไม่สนับสนุนพรรคพวกกันเองหากผิดก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า
  6) เล่นอย่างยุติธรรม (Fair Play)นักหนังสือพิมพ์ต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม หากลงข่าวผิดพลาดหรือพาดพิงถึงใครเขาอยากจะโต้ตอบก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาทางหน้าหนังสือพิมพ์เช่นกัน ต้องเป็นนักกีฬา
 7) ความสะอาด( Decency)นักหนังสือพิมพ์จะต้องมือสะอาด รวมไปถึงต้องใช้คำสุภาพเรียบร้อย ไม่ใช้คำที่เกินความเป็นจริง ในการเขียนข่าว
หลักการข้างต้นนี้เป็นเพียงข้อสรุปพอสังเขปให้พอยึดเป็นหลักการเท่านั้น ข้อความอื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย อ่านได้จากหนังสือคัมภีร์ทฤษฎี “ Four Theories Of The Press” เขียน โดย Fred S. Siebert, Theodore Peterson และ Wilbur  Schramm พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ1956  ขณะนี้ก็ยังเป็นแม่บทในทางปฎิบัติของนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก

หนังสือ และ บทความอ้างอิง :
1.ส.ศ.น.อย่างไรหนอที่เรียกว่านักหนังสือพิมพ์? ”. อนุสรณ์ 12 ปี วารสารศาสตร์. มีนาคม 2509.
2.บุญวงศ์ อมาตยกุล.มือที่ถือปากกา.อนุสรณ์ 12 ปี วารสารศาสตร์ มีนาคม 2509
เสฐียร พันธรังษีอย่าประพฤติตนเป็นโจรอนุสรณ์ 12 ปีวารสารศาสตร์ มีนาคม2509
3.Elkind, David. The Hurried Child: Growing too fast too soon. Addison –Wesley Publishing Company. 1986
4.Fred S. Siebert, Theodore Peterson & Wilbur  Schramm. Four Theories of the Press.
University of Illinois Press Urbana 1956
5.Scharff, Jill Savege. Foundation of Object Relations: Family Therapy. Jason
Aronson ,Inc. 1989 The Wall Street Journal. The Opinion. Thursday, June 02, 2005     ( หมายเหตุบ.ก.- ดำเกิง เสพย์ธรรม เป็นนักข่าว-นักเขียน เรียนจบวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้บริหารมติชน ก่อนเดินทางมาปักหลักในสหรัฐเคยทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เรียนจบด้านโซเชี่ยล เวิร์คเกอร์ (MSW) ทำงานเป็นซูเปอร์ไซเซอร์ในฝ่าย Forensic Clinical Social Work , Petersburg Campus, Central State Hospital รัฐเวอร์จิเนีย ปัจจุบันยังเป็นนักข่าว-นักเขียนเหมือนเดิม )

ความคิดเห็น