มุสลิมสยามในกรุงธนบุรีกับชาติพันธ์ต่างของบรรพชนมุสลิม

มุสลิมสยามในกรุงธนบุรีกับชาติพันธ์ต่างของบรรพชนมุสลิม

ภาพประกอบทั้งหมดจากเฟสบุ๊ค

บทนำ
   บทความนี้เป็นข้อมูลของ รศ.เสาวนีย์ จิตหมวด ต้องขอขอบคุณอาจารย์อย่างสูงที่ได้นำบทความนี้เผยแผ่ต่อสาธารณชน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง ทางเว็ปอัล-ชีอะฮฺ จึงขอนำบทความนี้เสนอเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป และได้มีการเพิ่มเติม และแก้ไขข้อมูลบางอย่างเกียวกับชีอะฮฺเพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริง จุดประสงค์ที่นำบทความนี้มาลงเพื่อเป็นคำตอบต่อข้อครหาของสังคม ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมคิดว่าชนชาติมุสลิมเป็นผู้อาศัยแผ่นดิน และเป็นกาฝาก ซึ่งในความเป็นจริงชนชาติมุสลิมคือ ผู้กอบกู้อิสรภาพให้แก่พื้นแผ่นดิน และเป็นผู้ปกป้องพื้นแผ่นดินไทยมาโดยตลอด ทำให้ชนชาติอื่นที่อาศัยแผ่นดินไทยมีการเป็นอยู่สุขสบายจนลืมทีรากที่มาของตนเองและผู้อื่น

   กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic) โดยทั่วไปแล้วหมายถึง กลุ่มที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมเดียวกัน ในแง่ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและต้นตอที่มาของบรรพบุรุษ (อารง สุทธาศาสน์, 2524 : 68) ในที่นี้หมายถึง กลุ่มคนที่ยึดโยงกันอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ทางภาษา สีผิว ศาสนา วรรณะ ตลอดจนภูมิวัฒนธรรมอื่นๆ ในแง่นี้กลุ่มชาติพันธุ์มีความสำคัญต่อปัญหาการเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2539 : 37)



   ในเบื้องแรกมุสลิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากพี่น้องชาวไทยส่วนอื่นในเรื่องของศาสนาอันแนบแน่นอยู่กับวัฒนธรรม กล่าวคือ มุสลิมคือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีวิถีในการดำเนินชีวิต หรือวัฒนธรรมอยู่ในครรลองของวัฒนธรรมอิสลามเป็นหลัก แต่นั่นมิได้หมายความว่า มุสลิมจะปฏิเสธในการปฏิบัติวัฒนธรรมอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม อิสลามกลับแสดงให้เห็นและยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่เป็นการเน้นให้เห็นและนำไปสู่ความเสมอภาคและภราดรภาพ

   ดังนั้นจากกรอบของภูมิรัฐศาสตร์ มุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรีก็ดีและในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็ดี ต่างได้รับสถานภาพเฉกเช่นเดียวกันว่าเป็น “ชาวไทยมุสลิม”

   บรรพบุรุษมุสลิมในธนบุรี

   เฉพาะบริบทของสังคมไทยในธนบุรี ชาวไทยมุสลิมในบริเวณนี้ก็มีที่มาแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์กล่าว คือ นอกจากจะเป็นชนเชื้อชาติไทยแล้วยังเป็นชนที่มีบรรพบุรุษจากเชื้อชาติต่างๆ คือ สายที่มีบรรพบุรุษจากเปอร์เซีย อาหรับ ชวา-มลายู จาม-เขมร อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศและจีน เป็นต้น

   อนึ่ง มุสลิมที่มีเชื้อชาติต่างๆ ดังกล่าว หากจะจำแนกความแตกต่างในแนวความคิดทางการเมืองในประวัติศาสตร์ ยังแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งสองกลุ่มนี้วงวิชาการเรียกว่านิกาย คือ ชีอะฮฺและซุนนะห์ แต่โดยในความจริงแล้ว ไม่มีนิกายในอิสลาม

   บรรพบุรุษมุสลิมในธนบุรีมาจากเชื้อชาติต่าง ๆ ดังส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ

   สายอาหรับ-เปอร์เซีย ชาวเปอร์เซียได้นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาค้าขายด้วยตั้งแต่ 1,200 ปีมาแล้ว ส่วนชาวอาหรับนั้น เรามีหลักฐานแน่นอนจากจดหมายเหตุของพวกอาหรับซึ่งแสดงให้เราทราบว่า เขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ ตั้งแต่สมัย 1,100 ปีมาแล้วเหมือนกัน (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:4)

   มีหลักฐานแน่นอนว่า ได้มีมุสลิมเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ปรากฏตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนที่คนโบราณเรียกว่า “แขกเทศ” ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สะพานประตูจีนด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุกแล้วก็เลี้ยวลงไปที่ท่า “กายี” เป็นบริเวณที่มุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงเมือง มีถาวรวัตถุร้างไปแล้วยังปรากฏอยู่ ชาวบ้านเรียกมาจนทุกวันนี้ว่า “กุฎีทอง” ที่นี่คำว่า “แขกเทศ” มีปรากฏในจดหมายเหตุนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีรกรากบ้านเดิมอยู่ในประเทศอาหรับบ้าง และในประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียบ้าง แล้วก็มาตั้งรกรากเพื่อดำเนินการค้าขาย ในที่สุดก็กลายเป็นคนไทย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 3)



   ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากเฉกอะหมัดซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่มาตั้งถิ่นฐานและสร้างมัสยิดที่เรียกว่า กุฎีทองแล้ว ยังมีชาวเปอร์เซียที่สำคัญอีกท่านหนึ่งเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หัวเขาแดง (สงขลา) หลังจากตั้งถิ่นฐานที่อินโดนีเซียมาแล้วระยะหนึ่ง ชาวเปอร์เซียท่านนี้เป็นชาวมุสลิมสายซุนนะห์ชื่อ ท่านโมกอล (เข้ามาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2145) บิดาของท่านสุลัยมาน ผู้ที่ประกาศแยกสงขลาออกเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองและสถาปนาตนเองเป็น “สุลต่านสุลัยมานซาห์” เมื่อ พ.ศ. 2173 โดยท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2211 ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศพของท่านฝังอยู่ที่หัวเขาแดงจังหวัดสงขลา

   เชื้อสายของสุลต่านสุลัยมานซาห์อยู่ในตระกูลต่าง ๆ ในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นราชสกุลและสกุลต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นมุสลิมและเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนิกชน อาทิ สุทัศน์ ณ อยุธยา สุคนธาภิรมย์ วัลลิโภดม จันทโรจนวงศ์ ณ สงขลา ณ พัทลุง สุวรรณคีรี ขัมพานนท์ ศรุตานนท์ วงศ์วานิช ยงใจยุทธ ฯลฯ ที่ยังเป็นมุสลิม เช่น ตระกูสุวรรณกิจบริหาร โยธาสมุทร บางอ้อ สิทธิวนิช แสงวนิชย์ ปรียากร ชลายนเดชะ บัวหลวง ทองคำวงศ์ ศรเดช ฯลฯ

   สายชวา-มลายู ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายปัตตานีซึ่งเป็นชาวบ้านเรียกว่า “แขกปัตตานี” มักจะประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมและค้าขาย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 21)



   คนที่นับถือศาสนาอิสลามในสมัยศรีอยุธยานั้นมีตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นตำบลใหญ่ หลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนเหมือนกัน ตำบลนั้นจะอยู่คลองตะเคียนทางทิศใต้ ส่วนอิสลามิกชนซึ่งมาจากอินโดนีเซียจากเกาะที่เรียกว่า “เกาะมากาซา” หรือ “มักสัน” ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตกลงไป (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 3)

   ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ช่วงสงครามไทย-พม่าจนมาถึงช่วงการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา มุสลิมกลุ่มนี้ได้อพยพหลบหนีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรี นอกจากนั้นตลอดสมัยธนบุรีถึง กรุงรัตนโกสินทร์ก็คงมีมุสลิมเชื้อสายชวา-มลายูย้ายถิ่นฐานจากอาณาจักรปัตตานีมาอยู่ในธนบุรี เพราะถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและเชิญชวนมาช่วยปฏิบัติงานรับใช้ชาติ ส่วนมุสลิมจากชวาก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเช่นกัน

   สายจาม-เขมร จามและเขมรเป็นคนละเชื้อชาติ เพราะจามเป็นชนที่ผสมระหว่างขอมเดิม อินเดีย มลายูและจีน เป็นต้น จามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเข้ารับราชการเป็นทหารอาสา ดังความในกฎหมายไทย (2439 : 192) ปรากฏว่า ยังมีแขกอีกพวกหนึ่งซึ่งปรากฏในมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า “อาสาจาม”



   มุสลิมที่อพยพจากกัมพูชานี้ ภายหลังเข้ามารวมเป็นพวกอาสาจาม ส่วนสาเหตุที่อพยพ เข้ามาในไทยเพราะถูกรุกรานจากเวียดนาม (รัชนี สาดเปรม, 2521 : 18)


   เมื่อเกิดสงครามไทย-พม่า กองอาสาจามจึงเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ศัตรูของไทย และเสียชีวิตลงจากการต่อสู้กับศัตรูเป็นจำนวนมาก ที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบางอ้อและที่อื่น ๆ

   สายอินเดีย-ปากีสถาน-บังคลาเทศ อินเดียที่ต่อมาแยกประเทศเพิ่มเป็นปากีสถานและ บังคลาเทศ เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐานในไทย

   มุสลิมเชื้อสายอินเดียมีทั้งที่เป็นสายชีอะฮฺและสายซุนนะห์ และมีทั้งรวมตัวตั้งเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่มและเข้าไปตั้งถิ่นฐานรวม หรือโดยการแต่งงานกับคนในชุมชนมุสลิมเชื้อสายอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว

   มุสลิมอินเดียสายชีอะฮฺ คือที่มัสยิดตึกขาว (เซฟี) มีสุสานอยู่ใกล้กับกุฎีเจริญพาศน์ ส่วนกลุ่มที่เป็นซุนนะห์คือที่ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตะวันออกหรือฝั่งพระนคร นอกจากนั้นกล่าวได้ว่า ทุกชุมชนเก่าแก่ในธนบุรี มุสลิมเชื้อสายอินเดียจะกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชุมชนมัสยิดตึกแดงซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของ พระคลังสินค้า



   สกุลต่าง ๆ ของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายนี้ เช่น วงศ์อารยะ นานา นานากุล นานาวิชิต สยามวาลา ชาลวาล ดุลยรัตน์ สถาอานันท์ สมุทรโคจร วานิชอังกูร วานิชยากร อับดุลราฮิม อมันตกุล อมรทัต สิมารักษ์ กุลสิริสวัสดิ์ ฯลฯ

   สายจีน มุสลิมเชื้อชาติจีนที่ตั้งถิ่นฐานในธนบุรีอาจมีอยู่บ้าง แต่จำนวนไม่มากเหมือนทางภาคเหนือของไทยและส่วนที่มีอยู่จะเป็นลักษณะการผสมระหว่างเชื้อชาติเสียมากกว่า กล่าวคือ ชาวจีนซึ่งอาจจะมีทั้งจีนมุสลิมแต่เดิมและจีนที่นับถือศาสนาอื่นแต่เดิม แต่งงานกับมุสลิมเชื้อชาติต่าง ๆ เช่นจามมุสลิมก็เป็นกลุ่มเชื้อชาติผสมจีน มุสลิมจากอาณาจักรปัตตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบบริเวณอ่าวปัตตานีจำนวนไม่น้อยก็เป็นมลายูผสมจีน ทั้งนี้จากการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ซึ่งอ่าวปัตตานีจะเป็นบริเวณที่พักหลบลมมรสุมอย่างดี

   ส่วนในปัจจุบันมุสลิมจากเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรีส่วนหนึ่งก็ได้แต่งงานกับลูกหลานชาวจีนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ โดยมาเข้ารับอิสลาม และมักจะกลายเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดเป็นจำนวนไม่น้อย

   การตั้งถิ่นฐานและชุมชนมุสลิมในธนบุรี
   ชุมชนมุสลิม (Muslim Community) มุสลิมไม่ว่าจะมีบรรพบุรุษสืบเนื่องจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด ก็จะมีการตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน มีผู้นำ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นไปตามรูปแบบและคำสอนในอิสลาม



   เมื่อเกิดการรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มหรือชุมชน หรือที่เรียกในภาษามลายูซึ่งมาจากภาษาเขมรว่า “กำปง” แล้ว มุสลิมในแต่ละชุมชนจะเสียสละทั้งกำลังทรัพย์ กำลังแรง เพื่อสร้างศูนย์กลางของชุมชนขึ้น นั่นคือ มัสยิดหรือสุเหร่า และหากพื้นที่ไม่จำกัดจนเกินไป บริเวณศาสนสถานจะครบ รูปแบบ โดยประกอบด้วย อาคารมัสยิด อาคารเรียน และกุโบร์สำหรับฝังศพ แต่บางชุมชนอาจต้องใช้ส่วนหนึ่งของมัสยิดเป็นที่ศึกษา และไปใช้กุโบร์ร่วมกันชุมชนอื่น เช่น มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือตึกแดงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้สุสานหรือกุโบร์เดียวกับมัสยิดนูรุ้ลมูบีน บ้านสมเด็จ

   อนึ่งชุมชนมุสลิมในธนบุรีที่เป็นชุมชนเก่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือริมคลองต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเส้นทางคมนาคมในอดีตใช้เส้นทางน้ำเป็นสำคัญ

   สำหรับงานศึกษานี้จะนำเสนอเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในธนบุรี จากชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่มีประวัตินับเนื่องมาแต่อดีต ซึ่งมักจะเป็นชุมชนมัสยิดที่อยู่ส่วนในใกล้เขตพระราชฐาน

   เนื่องจากมุสลิมในประเทศไทยมีการปฏิบัติศาสนกิจบางประการแตกต่างกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน หลังจากที่ท่านศาสดาหรือนบีมูฮำหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสิ้นชีวิต จึงเกิดเป็นมุสลิมสายซุนนะห์กับสายชีอะฮฺ ดังนั้นในการนำเสนอจึงขอแบ่งชุมชนออกเป็น 2 กลุ่ม ตามสายดังกล่าวคือ

   1. ชุมชนมุสลิมในธนบุรี สายชีอะฮฺ ในสมัยกรุงธนบุรี ชุมชนมุสลิมสายชีอะฮฺยังไม่มีมัสยิดเป็นของตนเอง แต่เนื่องด้วยมุสลิมชีอะฮฺซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัดกลุ่มนี้ตั้งชุมชนอยู่ติดกับมุสลิมสายซุนนะห์ที่คลองบางหลวงคือ กุฎีหรือมัสยิดต้นสน ฉะนั้นในการประกอบศาสนกิจโดยทั่วไปก็ดี ศาสนกิจในเดือนมุฮัรรอมสำหรับชีอะฮฺก็ดี มุสลิมชีอะฮฺ จะใช้มัสยิดต้นสนทำพิธี ทั้งนี้รวมถึงกุโบร์ซึ่งเป็นที่ฝังศพก็ใช้ร่วมกัน ซึ่งพระยาจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นสายชีอะฮฺมาแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ จำนวน 13 ท่าน ก็เป็นมุสลิมชีอะฮฺ และศพของพระยาจุฬาฯ นับแต่คนที่ 5 ต่างก็ฝังอยู่ในกุโบร์ของมัสยิดต้นสน

   ในบริเวณริมคลองบางหลวงริมถนนอิสรภาพทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่เชิงสะพานเจริญพาศน์ คือ ชุมชนใหญ่ของมุสลิมชีอะฮฺ ประกอบด้วยมัสยิด 3 แห่ง คือ มัสยิดดินฟัลลาห์หรือกุฎีปลายนา มัสยิดผดุงธรรมอยู่หลังกุฎีเจริญพาศน์ และกุฎีเจริญพาศน์อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสุสานปลายนา เป็น ศาสนสถานที่รู้จักโดยทั่วไปแต่อดีต สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และพิธีกรรมในเดือนมุฮัรรอมหรือที่ปรากฏในงานนิพนธ์ว่า “มหะหร่ำ” สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศเหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ความว่า

   “ดลเดือนเรียกมหะหร่ำ ขึ้นสองค่ำแขกตั้งการ

   เจ้าเซ็นสิบวันวาร ประหารอกฟกฟูมนัยน์”

   อนึ่ง ข้างกุฎีเจริญพาศน์ยังมีกุโบร์หรือสุสาน ดาวูดีโบราห์ ซึ่งเป็นที่ฝังศพของมุสลิมชีอะฮฺอิซมาอีลียะฮฺเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นชีอะฮฺที่มีความต่างไปจากชีอะฮฺของมัสยิดต่างๆ ในบริเวณนี้ มัสยิดของมุสลิมโบราห์นี้คือ มัสยิดเซฟีหรือตึกขาว

   สำหรับศาสนสถานแห่งแรกของมุสลิมชีอะฮฺในบริเวณนี้คือ กุฎีหลวง สร้างในรัชกาลที่ 1 เช่นกัน โดยได้ทรงพระราชทานที่ดิน 60 ไร่ ใกล้กับพระราชวังเดิมให้กับหลวงศรีเนาวรัตน์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด (ต่อมาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ 5) ตั้งชุมชนในบริเวณพื้นที่นี้ แต่ปัจจุบันกุฎีหลวงถูกย้ายไปอยู่ในซอยกุฎีหลวง ถ.พรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ ทั้งนี้เพราะกองบัญชาการกองทัพเรือต้องการขยายพื้นที่ จึงขอแลกเปลี่ยนพื้นที่กันเมื่อ พ.ศ. 2490

   บรรพบุรุษของมุสลิมชีอะฮฺส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นชาวเปอร์เซียจากเมืองกุม คือ ท่านเฉกอะหมัดและเฉกมะหะหมัดสะอี๊ดซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขาย ที่กรุงศรีอยุธยาในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148)

   เฉกอะหมัดเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับชาวไทยในกรุงศรีอยุธยา ด้วยความสามารถในด้านการค้าและเศรษฐกิจทำให้ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163-2171) ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี และกรมท่ากลาง หลังจากช่วยปราบจราจลจากการก่อการของญี่ปุ่นได้สำเร็จ ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาในการปกครองแผ่นดิน

   เฉกอะหมัดเป็นบรรพบุรุษของหลายตระกูลในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนา เช่น ตระกูลบุนนาค ปราโมช บุรานนท์ ศรีเพ็ญ จาติกรัตน์ เป็นต้น ซึ่งเชื้อสายท่านในส่วนนี้ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเชื้อสายที่เป็นมุสลิม ได้แก่ ตระกูลต่างๆ เช่น อหะหมัดจุฬา อากายี จุฬารัตน์ ยวงมณี สุวกูล ฯลฯ ซึ่งได้สืบสายในการดำรงตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีสืบต่อกันมานับแต่อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ท่าน ท่านสุดท้ายคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)

   ฉะนั้น พระยาจุฬาราชมนตรีทั้ง 13 ท่านดังกล่าวจึงเป็นสายชีอะฮฺจากสายเปอร์เซีย มุสลิมสายชีอะฮฺซึ่งเป็นสายของท่านเฉกอะหมัดตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณมัสยิดต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ และต่อมาได้แผ่ขยายออกไปยังเขตติดต่อกับกรุงเทพ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา และเขตตลิ่งชั่นในเวลาต่อมา มุสลิมชีอะฮฺยังคงสืบสานประเพณีที่เรียกกันในสังคมไทยว่า “เจ้าเซ็น” ซึ่งกระทำใน 10 วันแรกของเดือนมุฮัรรอม เพื่อรำลึกถึงโศกนาฎกรรมของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) หลานรักของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ที่ถูกสังหารอย่างโหดเหื้ยมโดยน้ำืมือของศัตรูอิสลามพร้อมกับลูกหลาน ณ แผ่นกัรบะลา ซึ่งอยู่ในประเทศอิรัก มาจนถึงปัจจุบัน

   พิธีกรรมเกี่ยวกับมุฮัรรอม ประกอบด้วยการแห่สัญลักษณ์ของผู้บริสุทธิ์ทั้ง 5 ได้แก่ท่านศาสดา ท่านอิมามอะลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ท่านอิมามฮะซัน และท่่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) การแห่พระศพ (สิ่งสมมติซึ่งประดิษฐ์และตกแต่งอย่างสวยงาม) เรียกว่าปัญญะฮ์ และตุรบัต ทั้งหมดถูกจัดทำขึ้นเพื่อจำลองเหตุการณ์แห่งกัรบะลาอฺ มิได้มีความหมายเกินเลยไปจากนี้ หรือมีเจตนาประดิษฐ์สิ่งใหม่ในศาสนาแ่ต่อย่างใด การเดินเวียนรอบปะรำ (เรียกว่าอ่างแก้ว) เพื่อรำลึกถึงการจากไปของท่านอิมาม มีการแสดงความเสียใจด้วยการทุบอก (มะตั่ม) พร้อมกับเปล่งเสียงว่า “ยาฮุซัยนฺ ยาอิมาม ยาเฆาะรีบ ยาชะฮีด” บางสถานที่มีการเดินลุยไฟเพื่อรำลึำถึงความร้อนระอุของพื้นแผ่นดินทะเลทรายแห่งทุ่งกัรบะลาอฺ และบางสถานที่มีการกรีดศรีษะเป็นการแสดงความอาลัยรักที่มีต่ออิมาม (ผู้นำ) ของตน ในช่วงเวลาดังกล่าวมุสลิมชีอะฮฺ จะแต่งกายด้วยชุดสีดำ เป็นการบ่งบอกถึงความทุกข์ระทมที่ได้เกิดกับอิมามและลูกหลานของตน ชนกลุ่มนี้เรียกว่าชีอะฮฺอิมามมียะฮฺ หรือชีอะฮฺอิซนาอะชะรีย์ หรือชีอะฮฺ 12 อิมาม

   ปัจจุบันชีอะฮฺที่สืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหฺมัดมีมัสญิดประกอบศาสนพิธี 7 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย มัสญิดิลฟัลลาห์ มัสญิดผดุงธรรม มัสญิดอิมามมะฮฺดีย์ (กุฎีหลวง) กุฎี (ฮุซัยนียะฮฺ) เจริญพาศน์ มัสญิดอัลฮุดา (ตลิ่งชั่น) ฮุซัยนะยะฮฺบาบุลฮาญิต และมัสญิดอิมามซอดิก (อ.) บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา

   อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้เสด็จไปในงานเจ้าเซ็นที่กุฎีเจริญพาศน์

   ชุมชนชีอะฮฺ (ชีอะฮฺอิซมาอีลียะฮฺ) นอกจากจะอยู่ในบริเวณที่กล่าวมาแล้ว ยังมีที่เขตคลองสานบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา มัสยิดที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตึกขาว ส่วนชื่อที่เป็นทางการคือ มัสยิดเซฟี มุสลิมที่เป็นสัปปุรุษของมัสยิดนี้เป็นกลุ่มโบราห์จากเมืองสุหรัด ประเทศอินเดียซึ่งเป็นมุสลิมสายชีอะฮฺอิซมาอีลียะฮฺ ที่มี แนวปฏิบัติแตกต่างไปจากมุสลิมชีอะฮฺอิมามียะฮฺ กล่าวคือในสายชีอะฮฺเองก็ยังแบ่งย่อยเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามความเชื่อความศรัทธา มุสลิมผู้อาวุโสทั้งชายหญิงของชุมชนนี้ ยังคงแต่งกายตามรูปแบบอินเดียที่อยู่ในกรอบของอิสลาม ส่วน กุโบร์ (สถานฝังศพ) ของสัปปุรุษนี้อยู่ห่างจากมัสยิดกล่าวคือ อยู่ใกล้กับกุฎีเจริฐพาศน์เรียกว่าสุสานดาวูดีโบราห์ ความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมกลุ่มนี้ คือการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย บริเวณหน้ามัสยิดเซฟีเป็นคลังสินค้าเป็นตึกขาวอยู่ริมแม่น้ำ ในขณะที่คลังสินค้าถัดขึ้นไปบริเวณบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นตึกแดง ดังนั้นมัสยิดของสองชุมชนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกันนี้จึงเรียกติดปากตามชื่อสีตึกว่า ตึกขาวและตึกแดง

   สกุลต่างๆ ของมุสลิมโบราห์ เช่น อับดุลราฮิม มัสกาตี ฮะกิมยี ฯลฯ

   2. ชุมชนมุสลิมในธนบุรี สายซุนนะห์ แม้ว่าพระยาจุฬาราชมนตรี นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นมุสลิมสายชีอะฮฺอันมีบรรพบุรุษจากเปอร์เซีย แต่ชาวไทยมุสลิมจากอดีตจนปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นสายซุนนะห์ซึ่งมีบรรพบุรุษมาจากมุสลิมเชื้อชาติต่างๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าชนต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยามีมากกว่า 40 เชื้อชาติ ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิม ดังนั้นหากจะจำแนกมุสลิมซุนนะห์ในธนบุรีซึ่งเป็นรอยต่อของกรุงศรีอยุธยาที่ต้องล่มสลายและมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มุสลิมในธนุบรีจะมีบรรพบุรุษจากเชื้อชาติต่างๆ คือ อาหรับ เปอร์เซีย ชวา มลายู จาม เขมร อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อัฟกานิสถาน และจีน

   มุสลิมจากเชื้อชาติต่างๆ ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมุสลิมในธนบุรี โดยบางชุมชนมีอยู่ก่อนที่ ธนบุรีจะเป็นราชธานี บางชุมชนเกิดขึ้นในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งในการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในธนบุรี ไม่ว่าจะเดินทางโดยตรงมาจากประเทศใดๆ ก็ดี หรือจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาแล้วอพยพต่อไปยังธนบุรีก็ดี หรือจะเดินทางจากถิ่นต่างๆ ในประเทศมายังธนบุรีก็ดี มุสลิมจะมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน และสร้างมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งหากพิจารณาในด้านนิเวศวิทยา มัสยิดที่ประกอบด้วยกุโบร์ก็จะทำหน้าที่เป็นปอดของชุมชน ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่

   มัสยิดเก่าแก่อันเป็นศูนย์กลางชุมชนในธนบุรีในสายซุนนะห์ ได้แก่ มัสยิดต้นสน มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ (บางกอกน้อย) มัสยิดกูวาติลอิสลาม (ตึกแดง) มัสยิดเซฟี (ตึกขาว) มัสยิดนูรุ้ลมูบีน (บ้านสมเด็จ) มัสยิดสวนพลู มัสยิดสุวรรณภูมิ มัสยิดวัดเกาะ มัสยิดฮารูณ

   อย่างไรก็ดี ไม่ว่ามุสลิมในธนบุรีจะมีเชื้อชาติและแนวการปฏิบัติศาสนกิจแบบใดก็ตาม แต่จะมีรูปแบบในการตั้งถิ่นฐานเหมือนกัน นั่นคือการอยู่รวมกันเป็นชุมชน

   มัสยิดกับประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมในธนบุรี
   จากทะเบียนมัสยิดในประเทศไทย พ.ศ. 2546 มีข้อมูลให้ทราบว่า จำนวนมัสยิดในกรุงเทพมหานครที่จดทะเบียนมีจำนวน 164 แห่ง เป็นมัสยิดที่ตั้งอยู่ธนบุรีจำนวน 20 แห่ง โดยกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ คือ ราษฎร์บูรณะ 6, จอมทอง 1, บางพลัด 2, บางกอกน้อย 3, คลองสาน 3 และธนบุรี 5 แห่ง

   สรุปได้ว่า ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันมีจำนวนมัสยิด 20 แห่ง แต่หากจะพิจารณาพื้นที่ของธนบุรีในสมัยกรุงธนบุรีซึ่งคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย จำนวนมัสยิดในธนบุรีควรจะมีมากกว่าในปัจจุบัน เช่น มัสยิดวัดเกาะ มัสยิดฮารูณหรือมัสยิดวัดม่วงแค เป็นต้น อย่างไรก็ตามแต่ละมัสยิดต่างก็มีประวัติศาสตร์ชุมชนโดยขอนำเสนอมัสยิดนับแต่เมืองธนบุรีเดิมทั้งกลุ่มคือ มัสยิดสายซุนนะห์และสายชีอะฮฺ ดังนี้คือ

   มัสยิดในชุมชนมุสลิมสายซุนนะห์
   1. มัสยิดต้นสน หรือชื่อที่เรียกทั่วไปว่า กุฎีต้นสน หรือกุฎีใหม่ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่ากุฎีต้นสนและชุมชนแห่งนี้มีอายุกว่า 400 ปี ฉะนั้นชุมชนมุสลิมนี้จึงมีอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ชุมชนตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งในอดีตก็คือส่วนหนึ่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา มุสลิมในชุมชนนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพ่อค้ามุสลิมชาติต่าง ๆ ที่เดินทางติดต่อ ค้าขายกับอยุธยา เช่น เปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย จาม เขมร จีน ฯลฯ แวะพำนักและตั้งถิ่นฐานมี ครอบครัวที่นี่ ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตก มุสลิมในอยุธยาซึ่งก็มีบรรพบุรุษจากชนชาติต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำได้อพยพล่องแพตามลำน้ำเจ้าพระยามาตั้งถิ่นฐานสมทบกับมุสลิมที่อยู่เดิมในบริเวณนี้ โดยอีกส่วนหนึ่งแวะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งน้ำบริเวณนนทบุรี บางอ้อ บางกอกน้อย ดังนั้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นอกจากจะเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า “แขกมัวร์หรือแขกเทศ” แล้วยังเรียก “แขกแพ”

   มุสลิมในชุมชนนี้มีบรรพบุรุษจากหลายเชื้อชาติ แต่ที่สำคัญคือ ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อสายของสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ นับเนื่องแต่สมัยกรุงธนบุรีสืบต่อจนกรุงรัตนโกสินทร์ ศพขอข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงฝังอยู่ในกุโบรฺของมัสยิดแห่งนี้ ทั้งนี้รวมถึงเจ้าพระยาจักรีซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปในพิธีฝังด้วยพระองค์เอง

   เจ้าพระยาจักรีท่านแรกในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีประวัติคือ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงนายศักดิ์ (หมุด) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน เป็นมหาดเล็กในราชสำนักมีหน้าที่ออกไปเก็บส่วยที่เมืองจันทบุรีเก็บได้ 300 ชั่ง (24,000 บาท) เมื่อทราบว่า กรุงศรีอยุธยาแตกก็ไม่ยอมคืนส่วยแก่ พระยาจันทบุรีตามคำขอ โดยวางแผนว่าเงินถูกปล้น แล้วนำเงินดังกล่าวไปมอบแก่พระยาตากเพื่อเป็นทุนในการสร้างอาวุธเพื่อกอบกู้เอกราช จากความช่วยเหลือนี้ ประกอบด้วยความสามารถในการต่อเรือ เดินเรือ และช่วยกอบกู้เอกราชให้ได้คืนมาโดยเร็ว หลวงนายศักดิ์จึงได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าตากสินมหาราชแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) ตำแหน่ง สมุหนายก ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

   ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเชื้อสายของท่านสุลต่านสุลัยมานจากเปอร์เซียนับแต่ธนบุรีถึง รัตนโกสินทร์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 2 ท่าน คือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ และ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

   สกุลต่างๆ ในชุมชนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นสายสกุลของสุลต่านสุลัยมาน เช่น มานะจิตต์ ทองคำวงศ์ ชื่นภักดี ท้วมประถม ภู่มาลี ฯลฯ

   2. มัสยิดบางหลวงหรือกุฎีขาว มัสยิดนี้ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงไม่ไกลจากมัสยิดต้นสน มุสลิมในชุมชนนี้อพยพจากกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน หลวงพิพิธเภสัช (2492 : 27) กล่าวว่า เมื่อครั้งพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ถูกข้าศึกเผาผลาญ บรรดาอิสลามที่อาศัยจอดแพขายของอยู่ ณ ตำบลหัวแหลม หัวรอ และคลองตะเคียน นับเป็นร้อย ๆ ครัวเรือนได้อพยพหลบภัยถอยแพล่องหนีพม่าข้าศึกลงมาจอดพำนักอยู่ตำบลคลองบางหลวง ตั้งแต่ตำบลบางกอกใหญ่ไปจนถึงวัดเวฬุราชิน ทั้งสองฝั่ง เมื่อบรรดาอิสลามศาสนิกชนมารวมอยู่มากด้วยกันเช่น  มีมัสยิดบางกอกใหญ่แห่งเดียวประกอบศาสนกิจคงไม่เป็นที่เพียงพอ ท่านโต๊ะหยีผู้เป็นคหบดีในจำพวกแขกแพนี้ด้วยกัน พร้อมด้วยบรรดาคณะของท่านจึงได้พร้อมกันสร้างมัสยิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ณ ตำบลคลองบางหลวงฝั่ง ตะวันออกเยื้องมัสยิดบางกอกใหญ่เล็กน้อย

   อนึ่ง เนื่องจากมัสยิดฉาบด้วยปูนขาว จึงมักเรียกว่ากุฎีขาว และนับว่าเป็นมัสยิดที่คล้ายวัดมาก ส่วนภายในตกแต่งฝาผนังด้วยการฝังเครื่องถ้วยชาม ซึ่งจารึกด้วยถ้อยคำในการปฏิญาณตนไว้ในกำแพงผนัง ช่วงหน้าต่างส่วนที่แสดงธรรมคถาหรือมิมบัรฺเป็นลักษณะซุ้มประตู ปั้นลายลงรักปิดทองประดับกระจกสีเป็นลวดลายกนกแบบไทย ซึ่งผู้ดำเนินการจัดทำคือ เจ้าสัวพุก สกุลพุกพิญโญ พ่อค้าชาวจีนซึ่งมาแต่งงานกับผู้หญิงมุสลิมในชุมชนนี้ โดยเจ้าสัวได้ไปถ่ายแบบซุ้มประตูวัดอนงคารามมาเป็นแบบ

   สกุลต่าง ๆ ในชุมชนนี้ เช่น ฮาซาไนท์ ท้วมสากล โอสถ ไวทยานนท์ ฯลฯ

   3. มัสยิดบางอ้อ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรพบุรุษเป็นมุสลิมเชื้อชาติต่าง ๆ คือ อาหรับ เปอร์เซีย จาม มลายู ฯลฯ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอยุธยา ได้ล่องแพอพยพตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ มีอาชีพในการค้าขาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าซุง ดังนั้นบ้านเรือนมุสลิมริมน้ำในบริเวณนี้จึงมักปลูกด้วย ไม้สัก

   ชุมชนจะตั้งเป็นแนวยาวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและลึกไปด้านใน เมื่อถนนจรัลสนิทวงศ์ ตัดผ่าน ชุมชนจึงแยกออกเป็นสองส่วน

   สกุลต่าง ๆ ของคนในชุมชนนี้ เช่น โยธาสมุทร บางอ้อ ยูซูฟี มานะจิตต์ เพชรทองคำ มุขตารี บุญศักดิ์ ฯลฯ

   4. มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์หรือมัสยิดบางกอกน้อย ปัจจุบันตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยใกล้ปากคลอง ซึ่งแต่เดิมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เริ่มแรกมัสยิดนี้อยู่ฝั่งสถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะทรงสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อย จึงทรงพระราชทานที่ ฝั่งตรงข้ามให้เป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างอาคารมัสยิดขึ้นใหม่ ณ พื้นที่ปัจจุบัน ในสมัยสงครามโลก มัสยิดถูกระเบิดจึงต้องสร้างอาคารขึ้นใหม่ สำหรับกุโบรฺ เนื่องจากเป็นมัสยิดที่อยู่ริมน้ำ ฉะนั้นบริเวณกุโบรฺซึ่งอยู่ถัดไปด้านในจึงต้องถมไว้สูงมาก และเป็นอีกมัสยิดหนึ่งที่มีโรงเรียนสายสามัญและสอนศาสนา

   ชุมชนนี้ตั้งอยู่ตามแนวคลองบางกอกน้อย บรรพบุรุษเป็นชนชาติอาหรับ ฮาเดอร์รอเม้าท์ที่เข้ามาติดต่อค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา มุสลิมในชุมชนนั้นมีฝีมือในการทำที่นอน จนได้ชื่อว่า ที่นอนดีมีคุณภาพต้องเป็นที่นอนจากบางกอกน้อย นอกจากนี้ยังมีฝีมือในการทำอาหารอาหรับที่ประกอบด้วยเครื่องเทศ เช่น ข้าวหมก ข้าวบุหรี่ ขนมปังยาสุม กะหรี่ปั๊บ แกงกรุหม่า ฯลฯ ส่วนอีกอาชีพหนึ่ง คือ เป็นพ่อค้าปืน (ย่านวังบูรพา)

   สกุลต่าง ๆ ในชุมชนนี้ เช่น ซอลิฮี กรีมี มัสอูดี สมะดี ฮะกีมี ศรีจรูญ รักษมณี เกตุเพียงกิจ อรุณโอษฐ์ กองทรัพย์โต ฯลฯ

   นอกจากนี้มุสลิมในชุมชนนี้ยังได้มีบทบาททางการเมืองมาแต่อดีตในการเปลี่ยนแปลง การปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 เช่น นายบรรจง นายประเสริฐ นายการุญ ศรีจรูญ ซึ่งต่อมาต่างก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก ส่วนวุฒิสมาชิกอีกท่านหนึ่งคือ เชื้อสายของสกุลศรีจรูญ คือ คุณหญิงสุวัฒนา (ศรีจรูญ) เพชรทองคำ

   5. มัสยิดนูรุ้ลมูบีนบ้านสมเด็จ เป็นชุมชน อายุเกือบ 200 ปี ตั้งอยู่บริเวณ หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มัสยิดนี้จึงเรียกมาแต่เดิมว่า มัสยิดบ้านสมเด็จ โดยเรียกตามสถานที่คือ บ้านสมเด็จเจ้าพระยาพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

   มุสลิมในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เชื้อสายมลายู ทั้งจากปัตตานีและไทรบุรี ส่วนใหญ่มีฝีมือทางการช่าง มัสยิดหลังแรกสร้างอยู่ริมคลอง โดยมีตวนกูโนซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานีเป็นอิหม่าม ส่วนอิหม่ามคนที่ 2 คือฮัจญีกาฮาเป็นชาวสตูล นอกจากนั้นยังมีมุสลิมจากอินเดียเข้ามา ตั้งถิ่นฐานรวมอยู่ในชุมชนแห่งนี้ด้วย

   บริเวณมัสยิดปัจจุบันประกอบด้วยอาคารมัสยิด อาคารเรียนซึ่งสอนทั้งสามัญและศาสนา และมีพื้นที่ของกุโบรฺซึ่งนอกจากจะเป็นที่ฝังร่างของคนในชุมชนแล้ว มุสลิมในชุมชนอื่นก็ใช้กุโบรฺแห่งนี้ด้วย เช่น ชุมชนมัสยิดจอมทอง ชุมชนมัสยิดตึกแดง

   สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าจากปัตตานี เช่น สกุลบินตวนกู เด่นอุดม บูรณานุวัตร บูรณพงศ์ ส่วนสกุลอื่น ๆ เช่น เกียรติธารัย ดลขุมทรัพย์ ซำเซ็น อาริยะ ชาญใบพัด มิตรสมาน อดุลยพิจิตร โกบประยูร รุจิระอัมพร ฯลฯ สำหรับมุสลิมที่มีบทบาทในการปกครองของไทยคือ พลเอก ณรงค์ เด่นอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4

   6. มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือตึกแดง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เชิงสะพานพุทธฯ ซึ่งแต่เดิมตึกแดงคือสำนักงานพระคลังสินค้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้บริจาคเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ให้กับมุสลิมในชุมชนนี้ ด้วยเห็นว่ามุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ไม่มีมัสยิดสำหรับปฏิบัติศาสนกิจ ต้องเดินทางไปที่มัสยิดบ้านสมเด็จ ซึ่งหนทางสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าสะแก มัสยิดนี้จึงเริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2402

   มุสลิมในชุมชนนี้ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ ๆ คือ เชื้อสายปัตตานี ซึ่งมีความสามารถทาง การช่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทำทอง นาค กับกลุ่มเชื้อสายอินเดียซึ่งมีความสามารถในการประกอบธุรกิจค้าขาย เพราะฉะนั้นในการบริหารมัสยิดแห่งนี้ จึงแบ่งกรรมการออกเป็นสองฝ่าย คือ ผู้บริหารฝ่ายศาสนกิจ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่อิหม่ามท่านแรกคือ ฮัจญีมูฮำหมัดยูซุป อัลมะหฺดาวี ส่วน ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจจะเป็นทางสายอินเดีย ท่านแรก คือ ฮัจญีบาย นานา

   สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชน เช่น นานา วงศ์อารยะ อมรทัต อมันตกุล วงศ์ยังอยู่ ประพฤติชอบ ศาสนกุล ฯลฯ

   สำหรับมุสลิมที่เคยมีบทบาทในด้านการปกครองจากชุมชนนี้ คือ นายเล็ก นานา อดีต รัฐมนตรีผู้ซึ่งถวายที่ดินประมาณ 4 ไร่ พร้อมอาคารแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช เพื่อทรงสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยบริเวณชุมชนแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จย่าแต่อดีต และนายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

   7. มัสยิดสวนพลู ตั้งอยู่ริมทางรถไฟวงเวียนใหญ่ ใกล้วัดโพธิ์นิมิตร ที่เรียกว่า สวนพลู เพราะในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นสวนที่ปลูกต้นพลู มุสลิมส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายมลายูจากอยุธยา ซึ่งคงอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงแตกและหลังจากนั้นเช่นเดียวกับมุสลิมในชุมชนอื่น ๆ นอกจากนั้นก็มีมุสลิมจากอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้ด้วยเช่นกัน

   สกุลต่าง ๆ ในชุมชนนี้ เช่น จุลธีระ ยกยอคุณ เซ็นติยานนท์ หลงสกุล วานิชยากร ฯลฯ

   8. มัสยิดสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามโรงแรมโอเรียลเต็ลและกรมศุลกากรเก่า มุสลิมในชุมชนนี้มาจากจังหวัดตราด (ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งได้ผสมกับเชื้อสายเขมร) และอยุธยา ซึ่งมีอาชีพค้าขาย เนื่องจากในอดีตฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากร มีพ่อค้าเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย จึงมีการตั้งถิ่นฐานในฝั่งตรงข้าม ซึ่งแต่เดิมบริเวณมัสยิดมีลักษณะเป็นป่าชายเลน และได้ขุดพบซาก เรือโบราณอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนในบริเวณไม่ไกลจากมัสยิดจะมีมุสลิมเชื้อสายอาหรับกลุ่มเดียวกับมุสลิม ที่มัสยิดบางกอกน้อยตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเช่นกัน

   สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชนนี้ เช่น พานิชชนก เกาจารี ชมเดช ฯลฯ

   9. มัสยิดฮารูณ นับเป็นชุมชนเก่าแก่ อยู่ติดกับโรงแรมโอเรียลเต็ล บนฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยา ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของธนบุรีในอดีต มุสลิมในชุมชนฮารูณส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศอินเดีย ฉะนั้นจะมีทั้งผิวขาวและผิวคล้ำ เดิมมัสยิดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เมื่อรัฐบาลจะสร้างโรงภาษีจึงต้องย้ายเข้าไปด้านในเพื่อสร้างโรงภาษี ซึ่งปัจจุบันอาคารโรงภาษีหรือศุลกากรยังคงอยู่ ดังนั้นซอยนี้จึงเรียกว่าตรอกโรงภาษีเก่า

   กุโบรฺของชุมชนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นที่ฝังศพของทหารที่เสียชีวิตจากราชการสงคราม มุสลิมในชุมชนนี้นอกจากประกอบอาชีพทางค้าขาย รับราชการแล้ว ท่านหนึ่งได้เคยเป็นวุฒิสมาชิก คือ นายเล็ก วานิชอังกูร

   สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชนนี้ เช่น วานิชอังกูร สถาอานันท์ สมุทรโคจร วัชรพิสุทธิ์ อี.เอ็ม ดาลจาวัล หอมชื่น สืบสันติกุล ฯลฯ

   10. มัสยิดวัดเกาะ อยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตะวันออกใกล้กับวัดเกาะ เป็นมัสยิดที่สร้างบนพื้นที่ของหลวงโกชาอิศหาก โดยบ้านของท่านอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตรงข้าม คือ บริเวณคลองสาน

   ในประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายหวัน มูซาพ่อค้าจากไทรบุรี เดินทางเข้ามาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองธนบุรี ท่านหวัน มูซาเป็นบิดาของหลวงโกชา แต่งงานกับนางสาวเลี๊ยบ ซึ่งเป็นลูกสาวชาวจีนย่านสวนมะลิ ที่ดินของหลวงโกชา อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฟาก ฝั่งคลองสานมีที่ดินประมาณ 12 ไร่ มีพวกข้าทาสทำสวนผลไม้จนถึง เลิกทาส เมื่อมีการตัดถนนเจริญนครในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่ดินบริเวณดังกล่าวจึงถูกแบ่งเป็น 2 ฝาก โดยที่ดินส่วนใหญ่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

   หลวงโกชาอิศหาก มีบุตร ธิดาหลายคน แต่เป็นชาย 3 คน คือ พระโกชาอิศหาก (หมัด) พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลา) และขุนกาญจนประศาสน์ อนึ่ง “บินอับดุลลา” คือ นามสกุลพระยาสมันตรัฐฯ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

   หลวงโกชาอิศหาก รับราชการอยู่ 4 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โดยทำหน้าที่เป็นล่ามและรับเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ดังนั้นเวลาชาวต่างชาตินำเครื่องราชบรรณาการมาก็มาพักกันที่บ้านนี้ ซึ่งคุณปู่จะทำหน้าที่ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อไป สำหรับที่ดินฝั่งตรงข้ามซึ่งเยื้องกับที่บ้านใช้เป็นที่เก็บสินค้า เป็นคลังสินค้า เพราะท่านเป็นพ่อค้าติดต่อค้าขาย ที่ดินแปลงนี้มีถนนทรงวาดตัดผ่าน เมื่อเลิกจากคลังสินค้า ที่ดินส่วนหนึ่งขายไป คงเหลืออยู่ประมาณ 2 ไร่เศษซึ่งเป็นบริเวณที่คุณปู่เกณฑ์ลูกหลานช่วยกันสร้างสุเหร่าไว้เป็นที่ละหมาดรวมกัน เนื่องจากสุเหร่านี้อยู่ใกล้วัดเกาะจึงเรียกกันว่า สุเหร่าวัดเกาะ และส่วนหนึ่งของพื้นที่ทำเป็นกุโบรฺคือ ที่ฝังศพ ศพของคุณปู่และคุณเติมศักดิ์ สมันตรัฐ ก็ฝังที่นั่น (อิ่ม สมันตรัฐ, สัมภาษณ์ : 26 เมษายน 2540, น้อมจิต สมันตรัฐ, สัมภาษณ์ : 13 พฤษภาคม 2540)

   คุณเสรี สมันตรัฐ (สัมภาษณ์ 13 พฤษภาคม 2540) เล่าว่า สุเหร่านี้ไม่ได้จดทะเบียน เลยไม่มีชื่อเป็นทางการ เรียกกันติดปากว่า สุเหร่าวัดเกาะ และไม่มีคณะกรรมการมัสยิดเหมือนสุเหร่าหรือมัสยิดที่จดทะเบียน พวกเราสืบสานการปกครองดูแลกันมาตลอด โดยใช้เงินรายได้จากการให้เช่าที่และอาคารรอบมัสยิดเป็นทุน แต่ก็เป็นมัสยิดเปิด คือ ใครมาใช้ก็ได้ แต่ละศุกร์ก็มีมุสลิมเข้ามาละหมาดประมาณ 100 คน เป็นมุสลิมที่ทำงานหรือมีบ้านเรือนบริเวณนั้น ที่กุโบรฺก็เป็นที่สาธารณะเช่นกัน

   พระยาสมันตรัฐฯ แรกเริ่มศึกษาที่วัดบางลำภูล่างหรือวัดเศวตฉัตร จากนั้นพระยาเปอร์ลิศขอไปอุปการะในฐานะบุตรบุญธรรมที่เมืองเปอร์ลิศ ทำให้ท่านมีความรู้ความสามารถในภาษามลายูอย่างดี และเข้ารับราชการเป็นล่ามมลายู จากนั้นได้ลงไปปฏิบัติราชการในหัวเมืองภาคใต้ เช่น ที่อำเภอยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก เบตง และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เมื่อ พ.ศ.2457 และได้รับ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่ออายุราชการจนถึง พ.ศ.2475 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสตูลและได้ร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีในหลายรัฐบาล ใน พ.ศ.2491 มีการแต่งตั้งตำแหน่งวุฒิสมาชิก ท่านก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อีกเช่นกัน ส่วนตำแหน่งในช่วงท้ายเมื่อ พ.ศ.2498 ท่านดำรงตำแหน่งประธานสภาจังหวัด ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยและศึกษาธิการ นอกจากนั้น ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมในวัย 91 ปี ท่านยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ตามเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดภาคใต้ เมื่อ พ.ศ.2502 ในฐานะล่ามพิเศษ ในครั้งนี้เอง ท่านได้มาเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ท่านถึงกับน้ำตาไหลนองหน้าโดยไม่รู้สึกตัว ด้วยความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ในขณะที่โดยเสด็จมาในขบวนรถไฟขากลับจะถึงหาดใหญ่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จจากที่ประทับมาหาท่านและโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 2 แก่ท่านในขณะนั้น ทั้งยังทรงพระกรุณาพระราชทานวโรกาสประทับนั่งสนทนาสอบถามทุกข์สุข และกิจการทางด้านศาสนากับท่านอยู่เป็นเวลานาน (อิ่ม สมันตรัฐ, สัมภาษณ์ : 26 เมษายน 2540)

   พระยาสมันตรัฐมีบุตรธิดาหลายคน คุณเติมศักดิ์ สมันตรัฐ เป็นบุตรที่เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย จนได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยรับตำแหน่งผู้ว่าฯ จังหวัดปัตตานีเป็นแห่งแรกในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นที่ปัตตานี และได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประเทศชาติจนสิ้นชีวิตลงในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร หลังจากท่านสิ้นชีวิตคุณลัดดาวัลย์ ภรรยา ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดในโครงการศิลปาชีพ คุณลัดดาวัลย์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคุณหญิง และต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2540 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นท่านผู้หญิงลัดดาวัลย์ สมันตรัฐ

   สังคมและวัฒนธรรมมุสลิมในธนบุรี
   การตั้งชุมชนของมุสลิมในธนบุรีในอดีตจะใช้แม่น้ำลำคลอง เป็นเส้นทางคมนาคมเป็นสำคัญ ฉะนั้นชุมชนต่าง ๆ จึงมักอยู่ริมน้ำ ด้วยเหตุนี้บ้านเรือนของมุสลิมจึงมักอยู่สองฝั่งแม่น้ำ สองฝั่งคลองคือ เป็นแนวตามริมฝั่งน้ำ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์มีการตัดถนน เช่น ถนนประชาธิปก อิสรภาพ เจริญนคร จรัลสนิทวงศ์ ฯลฯ ชุมชนมุสลิมในธนบุรีจึงถูกแบ่งเป็นสองฝั่งอีกครั้งหนึ่งตามแนวถนน นอกจากนั้นบ้านเรือนที่ถูกเวนคืนที่ดิน บ้างก็ต้องย้ายบ้านเรือนออกจากนอกชุมชนหรือหาที่ใหม่ภายในชุมชน

   อย่างไรก็ตาม ในบริเวณรอบ ๆ มัสยิดจะมีบ้านเรือนกระจุกตัวหนาแน่นมากกว่าบริเวณที่ห่างออกไปจากมัสยิด

   สำหรับการถือครองที่ดิน สรุปลักษณะที่สำคัญได้ 3 ลักษณะคือ

   1. เป็นที่ดินพระราชทาน

   2. เป็นที่ดินที่มุสลิมถือครองกรรมสิทธิ์เอง

   3. เป็นที่ดินที่มุสลิมเช่าจากของราชการและเอกชน

   ในทางสังคม จากภาพสะท้อนของการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมในธนบุรีจึงเห็นได้ว่า มุสลิมจะอยู่รวมกันเป็นชุมชน เมื่ออยู่ที่ใดก็จะสร้างมัสยิดเป็นศูนย์กลางและมีผู้นำ คือ อิหม่าม ซึ่งโดยภาระหน้าที่ตามหลักการ นอกจากจะทำหน้าที่ทั้งในการละหมาดและประกอบศาสนกิจต่าง ๆ แล้ว ยังต้องทำหน้าที่ดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขสัปปุรุษในชุมชนอีกด้วย

   สำหรับระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชน แม้ว่าในปัจจุบันธนบุรีจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมือง และเป็นเมืองหลวงก็ตาม แต่กล่าวได้ว่าระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนมุสลิมยังคงเหนียวแน่น ยังเป็นลักษณะของความสัมพันธ์แบบสังคมชนบทที่คนในชุมชนเหมือนหนึ่งเป็น เครือญาติเดียวกันหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งยังคงมีความเป็นชุมชน เมื่อมีคนเสียชีวิตจะมีประกาศใน ชุมชน ซึ่งคนในชุมชนต่างจะเดินทางไปเยี่ยม ไปร่วมละหมาดญะนาซะฮฺ คือ การละหมาดให้แก่ ผู้ตาย สำหรับงานแต่งงานและงานอื่น ๆ จะเป็นลักษณะเชิญให้ไปร่วมงาน

   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนบุรีจะเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงช้ากว่าส่วนอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ แต่ชุมชนมุสลิมในธนบุรีต่างก็ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองหลวง

   จากการเพิ่มขึ้นของประชากร ทั้งจากปัจจัยการเกิดการตายที่แปรเปลี่ยนไป และจากปัจจัยการย้ายถิ่นทั้งของมุสลิมจากต่างจังหวัดที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนมุสลิมที่มีอยู่เดิมก็ดี จาก พี่น้องชาวไทยอื่น ๆ ที่เข้ามาอยู่ในชุมชนมุสลิมก็ดี ทำให้ชุมชนมุสลิมที่แต่เดิมเต็มไปด้วยต้นไม้ ทั้งในลักษณะเรือกสวนและป่าสะแก กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นชุมชนหนาแน่นด้วยประชากร หรืออาจเรียกได้ว่ากลายเป็นชุมชนแออัด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดภาวะการกระจายตัวหรือการอพยพออกจากชุมชนดั้งเดิม ทั้งจากปัจจัยการถูกไล่ที่ การอพยพออกไปเองเพื่อหลบเลี่ยงภาวะความแออัด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การอพยพออกไปก็มักจะไปรวมตัวกันใหม่เป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ บ้างก็อพยพไปในชุมชนมุสลิมที่มีอยู่เดิมซึ่งอยู่ชานเมือง เช่น บริเวณมีนบุรี หนองจอก ราษฎร์บูรณะ หรือชานเมืองของบริเวณปริมณฑลของกรุงเทพฯ เช่น ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ในการรวมตัวกันใหม่นี้ หลายแห่งก็จะกลายเป็นชุมชนมุสลิมที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมีมัสยิดแห่งใหม่เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน

   สำหรับผู้ที่ไปรวมตัวอยู่กับชุมชนเก่าที่มีมัสยิดอยู่ ในวันอีดมักนิยมเดินทางกลับมาละหมาดเนื่องในวันอีดิลฟิตรฺและอีดิลอัฎฮา ยังมัสยิดในชุมชนเดิมและเพื่อเป็นการเยี่ยมญาติพี่น้องเนื่องในวันสำคัญนี้

   นอกจากนั้น ในระหว่างชุมชนต่าง ๆ ก็ยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่ในอดีตจากกรุงศรีอยุธยา เมื่ออพยพมาที่ธนบุรี ญาติพี่น้องก็กระจายตัวอยู่ใน ชุมชนต่าง ๆ นับแต่บางเขน บางอ้อ บางหลวง บางกอกน้อย บางลำภูล่าง เป็นต้น นอกจากนั้นก็อาจเป็นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน การใช้ศาสนสถานร่วมกัน การเป็นลูกศิษย์สถาบันการศึกษาเดียวกัน ฯลฯ ปัจจุบันมุสลิมในธนบุรีจึงยังคงไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแต่งงาน งานศพ วันสำคัญทางศาสนา ฯลฯ

   ในมิติของวัฒนธรรม กล่าวได้ว่า วิถีในการดำเนินชีวิตของมุสลิมในธนบุรีนับแต่อดีต ยังคงอยู่บนครรลองของวิถีชีวิตวัฒนธรรมหลัก 3 วัฒนธรรมคือ วัฒนธรรมอิสลาม วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เดิมของบรรพบุรุษ แต่ในปัจจุบันวิถีของวัฒนธรรมตะวันตกก็เข้ามามีอิทธิพลกับวิถีชีวิตของมุสลิมในธนบุรีด้วยเช่นกัน

   บทส่งท้าย

   ถึงแม้ว่าชาวไทยมุสลิมรวมทั้งมุสลิมในธนบุรีจะเป็นประชากรส่วนหนึ่งของ ประเทศที่มีบรรพบุรุษที่หลากหลายชาติพันธุ์แต่ต่างก็มีบทบาทต่าง ๆ ในฐานะเจ้าของประเทศที่มีความรัก ความหวงแหนในประเทศชาติ แต่ด้วยอิสลามเป็นทั้งศาสนาและวัฒนธรรมก็ดี การที่อิสลามไม่ได้แยกความเป็นผู้ครองธรรมกับผู้ครองเรือนออกจากกัน แต่สภาวะทั้ง 2 อยู่ในมุสลิมทุกคนทั้งชายหญิง กล่าวคือการเป็นทั้งผู้ครองเรือนและเป็นผู้ครองธรรม ซึ่งทำให้วิถีในการดำเนินชีวิตของชาวไทยมุสลิมดูมีความแตกต่าง มีลักษณะแปลกแยกไปจากพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ จนมักถูกสรุปว่าเป็นความเคร่ง ความคลั่ง ตลอดจนการเอาใจออกห่างจากความเป็นชนชาติไทย และจากนโยบายผสมกลมกลืนของผู้บริหารประเทศในอดีตก็ดี การแพร่ระบาดของข้อมูลเกี่ยวกับอิสลามที่ผิด ๆ ซึ่งผ่านระบบการศึกษาและการสื่อสารก็ดี ขณะเดียวกันมุสลิมก็มักจะปิดตัวเองหรือขาดการสื่อสาร บอกข้อความจริงให้พี่น้องร่วมชาติได้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงนำไปสู่ภาวะความไม่เข้าใจกัน ความรังเกียจเดียดฉันท์จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทั้งระหว่างรัฐกับชาวไทย มุสลิม และระหว่างชาวไทยมุสลิมกับเพื่อนร่วมชาติในระดับหนึ่งนับแต่อดีต

   แต่ ณ ห้วงปัจจุบัน จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ฉบับที่กล่าวถึงสิทธิประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ดี การศึกษาที่ทำให้ประชาชนชาวไทยเกิดการรู้เขา-รู้เรา บนฐานความจริงที่ถูกต้องขึ้นก็ดี ประกอบกับนโยบายของรัฐที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนมาสู่การยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเห็นความหลากหลายเป็นความงดงาม และสามารถนำไปสู่ทั้งความ มั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยมุสลิมรวมทั้งมุสลิมในธนบุรีซึ่งมีบทบาทในการก่อบ้านสร้างเมือง นับแต่การกอบกู้เอกราชมาแต่อดีตและได้ช่วยกันรังสรรค์ พัฒนาประเทศตราบจนปัจจุบันจึงมีความมุ่งหวังว่าชาวไทยมุสลิมจะอยู่ในสังคมไทยโดยไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเพียงผู้อาศัยเป็นประชาชนชั้นสอง หากแต่เป็นคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศที่จะร่วมกันรังสรรค์และพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขสืบต่อไป

   เขียนโดย รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

   เอกสารอ้างอิง
   กฎหมายเมืองไทย. 2439. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : ดีนีพลัดเล.

   กรมการศาสนา. กองศาสนูปถัมภ์. 2536. ทะเบียนมัสยิดในประเทศไทย พ.ศ.2535. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา

   ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. 2539. “ชาติพันธุ์และความขัดแย้ง : มรดกอันตราย ณ จุดเปลี่ยนศตวรรษ”. ในวีระศักดิ์ จงสู่

   วิวัฒน์วงศ์. บรรณาธิการ. สังคมวัฒนธรรมกับสุขภาพ, หน้า 27-38. สงขลา : มหาวิทยาลัยสงขลา

   นครินทร์.

   เซอิจิ อิมานากะ. 2538. พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมธนบุรี. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (เอกสารอัดสำเนา)

   ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา. 2535. “เรื่องเก่าและของดีแห่งธนบุรี”, ใน ประวัติศาสตร์เมืองธนบุรี, หน้า 23-37. กรุงเทพ : สถาบันราชภัฎธนบุรี.

   ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ. 2539. มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

   พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. 2538. “สืบสานตำนาน…บางกอก”, ในเอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่องชีวิตไทยในธนบุรี, หน้า 1-25. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฎธนบุรี.

   พิพิธเภสัช, หลวง. 2492. ประวัติมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว). กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

   มานิตย์ ซำเซ็น. 2538. “มัสยิดนูรุ้ลมูบีน (บ้านสมเด็จ)”. ในอนุสรณ์งานฉลองมัสยิดนูรุ้ลมูบีน. หน้า 2-15. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.

   รัชนี สาดเปรม. 2521. “บทบาทของชาวไทยมุสลิมในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2453”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

   เสาวนีย์ จิตต์หมวด. 2531. กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ : กองทุนสง่า รุจิระอัมพร.

   .2527. “หน้าที่ของมัสยิดต่อสังคมมุสลิมในภาคกลาง : เปรียบเทียบมัสยิดในเมืองกับชนบท” นิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

   อนุสรณ์แด่นายเติมศักดิ์ สมันตรัฐ. 2524. กรุงเทพฯ : อักษรพัฒนา.

   อารง สุทธาศาสน์. 2524. ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : พิทักษ์ประชา.

   แอบ ศาสนกุล. 2512. อนุสรณ์งานฉลองมัสยิดกูวะติลอิสลาม. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

   สัมภาษณ์
   การีม ยูซูฟี. 2540. ให้สัมภาษณ์ 10 พฤษภาคม.

   น้อมจิต สมันตรัฐ. 2540. ให้สัมภาษณ์ 13 พฤษภาคม.

   มนัส สืบสันติกุล. 2540. ให้สัมภาษณ์ 20 พฤษภาคม

   มาโนช ซอลิฮี. 2540. ให้สัมภาษณ์ 23 พฤษภาคม

   เสรี สมันตรัฐ. 2540. ให้สัมภาษณ์ 13 พฤษภาคม

   อิ่ม สมันตรัฐ. 2540. ให้สัมภาษณ์ 26 เมษายน

   ข้อมูลจาก Prachathai.com
 

ที่มา http://www.al-shia.org/html/thi/maqalat/ejtmaee/09.htm

ความคิดเห็น