ประวัติชุมชนมุสลิมบ้านฮ่อ มัสยิดเฮดายาตุ้ลอิสลามบ้านฮ่อ เชียงใหม่
บริเวณบ้านของท่านขุนชวงเลียงเมื่อ ๒๕๕๑ ต.ค.
ประวัติชุมชนมุสลิมบ้านฮ่อ
ท่านเจิ๋งชงหลิ่ง ได้เดินทางร่วมกับกลุ่มพ่อค้าที่มาจากมณฑลยูนนาน เพื่อทำการค้า บริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า และเข้าสู่ประเทศไทยทางเขต อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าสู่จังหวัดลำปาง ตาก ลำพูน และเชียงใหม่ ต่อมาท่านสมรสกับชาวพื้นเมือง คือ คุณย่านพ ที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าของจอมพลถนอม กิติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านจึงได้ ปักหลัก ปักฐานอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย
ภาพท่านเจิ้งชงหลิ่ง
ท่านเจิ๋งชงหลิ่ง ได้เข้ามาค้าขายบริเวณอำเภอแม่แจ่ม ตั้งอยู่ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงใหม่ ที่ติดกับชายแดนของประเทศไทย จนกระทั้งในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ท่านจึงมุ่งสู่ตัวเมืองเชียงใหม่และตั้งถิ่นฐานบริเวณย่านศูนย์การค้าเวียงพิงค์ หรือ ไนท์บาร์ซ่าร์ เป็นผืนดินที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านเจ้าผู้ครองนคารเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของท่านจึงกลายเป็นศูนย์กลางการรวมตัวของพ่อค้าชาวจีนยูนนานมุสลิม เป็นจุดพักสินค้า ที่ใช้ม้าและล่อ เป็นพาหนะ
เมื่อท่านได้สร้างหลักฐาน ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้รับความไว้วางใจจากทางราชการไทยให้รับสัมปทานในการทำธุรกิจกิจกรรมทางไปรษณีย์มีหน้าที่ส่งจอหมายโดยใช้ขบวนม้า-ล่อ เป็นพาหนะ เพื่อจัดส่งในพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของภาคเหนือ นอกจากนั้น บทบาทที่สำคัญยิ่ง ของท่านเจิ๋งชงหลิ่ง ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะนำความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ภาคเหนือ ของประเทศไทยในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่ทางราชการเริ่มมีนโยบายการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางจาก จังหวัดลำปาง สู่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านเป็นผู้ที่นำขบวนม้า-ล่อ ในการลำเลียงวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ จากจังหวัดเชียงใหม่ไปถ้ำขุนตาล และเมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสู่เชียงใหม่ได้สำเร็จลง ต่อมาท่านได้บริจาคที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของท่านจำนวนพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ในการสร้างการรถไฟ และก่อสร้างสนามบินในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานท่านเป็นผู้หนึ่งที่เสียสละและมีบทบาทคุณูปการที่สำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างความเจริญให้สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่นและประเทศชาติโดยรวม ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน บรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนชวงเลียง” และพระราชทานนามสกุลของท่านเป็น “วงศ์ลือเกียรติ” ท่านจึงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของชาวเชียงใหม่คือ “ท่านขุนชวงเลียง ลือเกียรติ”
ภาพลูกหลานของท่านเจิ๋งชงหลิ่งหรือท่านขุนชวงเลียงในอดีต
ปี ค.ศ. ๑๙๖๔ ท่านขุนชวงเลียง ลือเกียรติ ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นหลัการปฏิบัติข้อที่ ห้า ที่ชาวมุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติอย่างน้อย ๑ ครั้ง ในชั่วชีวิตหนึ่งโดยมีเงื่อนไขเฉพาะบุคคลที่มีความสามารถ ณ. เมืองเม็กกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และท่านถึงแก่กรรม ณ สถานที่อันบริสุทธิ์แห่งนั้น เหลือแต่ความทรงจำที่ชาวยุนนานมุสลิมจังหวัดเชียงใหม่ทุกคน ยังคงตระหนักถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของท่าน และแบบอย่างของความเสียสละ ยึดมั่น ห่วงใยในวิถีชีวิตของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ในการสืบสานสัจธรรม ให้คงอยู่ในสายเลือด ของชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีนตลอดไป
การสร้างมัสยิด
ในส่วนของชาวยูนนานมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้บริเวณบ้านของท่านขุนชวงเลียง หรือ “บ้านลือเกียรติ” เป็นที่ประกอบศาสนกิจ คือการละหมาดร่วมกัน ต่อมา ประชากรเพิ่มขึ้น ชาวยูนนานมุสลิมทั้งหลาย ภายใต้การนำของท่านขุนชวงเลียง จึงมีดำริให้มีการสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยการร่วมกันบริจาค เงินเพื่อซื้อที่ดิน และสำหรับการก่อสร้างตัวอาคารของมัสยิดเป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นจำนวนเงิน ประมาณ ๓,๐๐๐ รูปี (ประมาณ ๒,๔๐๐ บาท) ซึ่งถือว่าเป็นอาคารมัสยิดหลังแรก ของชาวยูนนานมุสลิม ที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านเวียงพิงค์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “มัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ” โดยมีบุคคลที่มีบทบาท สำคัญในการก่อสร้างอาคารมัสยิดครั้งนี้ ๘ ท่าน ได้แก่
๑. ท่านขุนชวงเลียง ลือเกียรติ ต้นตระกูล “วงศ์ลือเกียรติ”
๒,ท่านเย่ เอ๋อโกเถ่อว
๓.ท่านเย่ ฮั่วเถี่ยน ต้นตระกูล “พงษ์พฤษฑล”
๔.ท่านนะสือชิง ต้นตระกูล “ธีระสวัสดิ์”
๕.ท่านหมู่ หย่งชิน ต้นตระกูล “อนุวงค์เจริญ”
๖. ท่านม้า สุซาน
๗.ท่านลี หวิ่นโซะ ต้นตระกูล “ลีตระกูล”
๘. ท่านม้าฝูเม้ย ต้นตระกูล “อินทนันท์”
ต่อมามีชาวจีนยูนนานรุ่นสุดท้ายที่อพยพออกจากประเทศจีนช่วงหลังเปลี่ยนการปกครองปี ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ.๒๔๙๒) เข้าสู่พม่าและภาคเหนือของไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้แระชากรจีนมุสลิมยูนนานมุสลิม มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สัปปุรุษของมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ จึงได้รื้อถอนอาคารมัสยิดหลังเดิมที่ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจ ภายใต้การนำของบุคคลสำคัญ ๓ ท่านคือ ฮัจยียง ฟูอนันต์ (อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่-ถึงแก่กรรมแล้ว ฮัจยียุทธ โชคชัยวงค์
(ม้ายุฉิ-ถึงแก่กรรมแล้ว) นายบุญศรี อินทนันท์ (อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่-ถึงแก่กรรมแล้ว) ก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก ๒ ชั้น
โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๗๕๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันอาคารมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ ตั้งอยู่บนถนนเจริญประเทศ ซอย ๑ ตำบลช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประกาศถึงความเสียสละของเหล่าบรรพบุรุษที่มีความห่วงใยถึงลูกหลานในการที่จะช่วยพิทักษ์สัจธรรมอิสลามให้คงอยู่ตลอดไป
รายชื่ออีหม่ามมัสยิดเฮดายาตุ้ลอิสลาม (บ้านฮ่อ)ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
๑. อีหม่ามมู่เป้าเถียน พ.ศ.- ถึง –
๒. อีหม่ามมู่หยินจะ พ.ศ. – ถึง –
๓. อีหม่ามมาไถหลิ่ง พ.ศ. – ถึง –
๔. อีหม่ามม้าจิปิน พ.ศ. – ถึง –
๕. อีหม่ามม้ายีถิ่ง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง ๒๔๙๐
๖. อีหม่ามลีเหวิ่นฟู่ พ.ศ. ๒๔๙๐ ถึง ๒๕๑๙
๗. อีหม่ามมาซูเหลียง พ.ศ. ๒๕๑๙ ถึง ๒๕๒๓
๘. อีหม่ามมาติ่งฮั่ว พ.ศ. ๒๕๒๓ ถึง ๒๕๓๖
๙. อีหม่ามหน่าชิงชิง พ.ศ. ๒๕๓๖ ถึง –
๑๐.อีหม่ามซางฟู แซ่พาน พ.ศ.- ถึง ปัจจุบัน*
ที่มา
หนังสือมรดกศาสนาในเชียงใหม่ภาค ๒ ประวัติและการพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่
จัดทำโดย คณะทำงานฝ่ายวบรวมประวัติและพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่
ภาคศาสนาอิสลาม โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี และคณะ
ในโอกาสสมโภชน์เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี (๑๘๓๙-๒๕๓๙)
จัดพิมพ์โดย คณะอนุกรรมการด้านศาสนางานสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี จังหวัดเชียงใหม่
ภาพถ่ายพิมพ์และนำเสนอ โดย นายชุมพล ศรีสมบัติ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
โปรดใช้วิจารณญานในการแสดงความคิดเห็น