ชุมชนมุสลิมมัสยิดช้างคลานอดีตปัจจุบันบนเส้นทางของพี่น้องมุสลิมเชื้อสายเบงกาลี

#ชุมชนมุสลิมมัสยิดช้างคลานอดีตปัจจุบันบนเส้นทางของพี่น้องมุสลิมเชื้อสายเบงกาลี
โดย ชุมพล ศรีสมบัติ


                   ในจังหวัดเชียงใหม่นอกจากเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมเชื้อสายจีนแล้ว ก็ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง พี่น้องชาติพันธ์อื่นเท่าไหร่นัก  จริงแล้ว มุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่  มีพี่น้องมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มาพร้อม ๆ กับ พี่น้องมุสลิมจีน ซึ่งมีความเป็นมา น่าสนใจไม่แพ้กัน คือกลุ่มพี่น้องมุสลิมเชื้อสายบังคลาเทศ-อินเดีย ในย่านช้างคลาน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการอพยพ วิถี ความเป็นอยู่ของพี่น้องย่านนี้ ถือเป็นชุมชนมุสลิมที่ใหญ่ไม่แพ้ใครในพื้นที่ภาคเหนือ



             เรื่องราวของพี่น้องมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่  ทุกชาติพันธ์ ทุกมัสยิดถูกบันทึกไว้ในหนังสือ มรดกศาสนาในเชียงใหม่ภาค ๒  ประวัติและการพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่  ซึ่งจัดทำโดย  คณะทำงานฝ่ายรวบรวมประวัติและพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่ ภาคศาสนาอิสลาม โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี และคณะ  ในโอกาสสมโภชน์เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี (๑๘๓๙-๒๕๓๙)จัดพิมพ์โดย  คณะอนุกรรมการด้านศาสนางานสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี จังหวัดเชียงใหม่

         จะเห็นได้ว่า จังหวัดเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกัน ในความหลากหลายของชาติพันธ์ ศาสนา วัฒนธรรม และกลุ่มคนมุสลิม ก็ได้รับเกียรติ นำเรื่องราวมาบันทึก ส่งต่อไปยังลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป ถือได้ว่าเป็นคุณูปการของบรรพชนที่สร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่น ต่อมา

       ย้อนไปในอตีตการของพี่น้องมุสลิมเชื้อสายเบงกาลีและอินเดียย่านช้างคลานเริ่มจาก ชาวอินเดียเชื้อสายบังคลาเทศกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่อพยพมาจากประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2393 โดย มีท่าน มุฮัมมัด อุสมาน อาลี เมยายี กับภรรยาชาวพม่า พร้อมน้องชายและน้องภรรยาซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ในตอนแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ทางทิศใต้ของกำแพงเมือง แต่หลังจากอยู่มาได้ 2-3 ปี ก็พบว่าอยู่ใกล้กับคุ้มเจ้าครองนครมากเกินไป และแวดล้อมด้วยชุมชนของพี่น้องชาวพุทธ ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ ท่านมุฮัมมัดและภรรยาจึงได้ย้ายออกไปอยู่ในบริเวณซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาว มุสลิมย่านช้างคลานปัจจุบันซึ่งห่างจากกำแพงเมืองเก่าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยปล่อยให้น้องชายและน้องสาวของภรรยาซึ่งนับถือศาสนาพุทธยังคงอยู่ในชุมชนของชาวพุทธต่อไปต่อไป



      สิทธิ ในที่ดินซึ่งชาวอินเดียเบงกาลีมุสลิมและครอบครัวที่เข้าไปตั้งบ้านเรือนได้รับพระราช ทานจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ ประกอบกับพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกและการ เลี้ยงสัตว์ ในระยะเริ่มแรกของการตั้งถิ่นฐานมีมุสลิมอยู่เพียง 10 กว่าครัวเรือน และจำนวนประชากรไม่ถึง100คน

    เดิมมัสยิดช้างคลาน   อยู่ติดกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง  ซึ่งเรียกกันว่า “ท่าปู่ก้อน” ตั้งอย่ถนนเจริญประเทศปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งนาอุดมสมบรูณ์สำหรับเลี้ยงสัตว์ และเมื่อประชากรมุสลิมที่อพยพจาก ประเทศอินเดีย พม่า มาลายู ได้มารวมตัวกันมากขึ้น ท่าน  มูฮัมมัด อุสมาน อาลี เมยายี คนเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นแกนนำผู้อพยพในขณะนั้น   ได้รวบรวมสมาชิกช่วยกันสร้างมัสยิดเป็นตัวอาคารทำด้วยไม้ไผ่  หลังคามุ่งแฝก  เพื่อ ใช้เป็นสถานที่นมาซ อันเป็นศาสนบัญญัติสำคัญยิ่งของชาวมุสลิมที่ทุกคนต้องกระทำทุกวัน ๆละ ๕ เวลาและเป็นที่สำหรับการเรียนการสอนหลักคำสอนของศาสนา

         ท่านอุสมาน เมยายี เป็นครูผู้สอน และท่านได้รับเลือกจากสมาชิกในชุมชนขณะนั้นให้ดำรงตำแหน่ง อีหม่าม (ผู้นำทางศาสนาของชุมชน)   เป็นท่านแรกและแห่งแรกของชุมชนมุสลิมจังหวัด

       ต่อมาที่บริเวณท่าปู่ก้อน  ถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง ลงทุกปีในฤดูน้ำหลาก  ท่านอุสมาน เมยายี จึงมองหาแห่งใหม่ในการสร้างมัสยิดให้มีความแข็งแรงมากขึ้นและท่านได้รับความเมตตาจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้น  บริจาคที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ  ๓ งานเศษ สร้างเป็นมัสยิดแห่งใหม่ คือบริเวณที่เป็นที่ตั้งมัสยิดปัจจุบัน  บนถนนเจริญประเทศซอย ๑๓  ตำบลช้างคลาน  จังหวัดเชียงใหม่   ในการก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่นี้  ตัวอาคารทำด้วยไม้เนื้อแข็ง  และหลังคามุ้งด้วยกระเบื้องดินเผา

           ในขณะนั้นท่านเป็นที่เคารพนับถือของปวงสัปปุรุษโดยทั่วไปในชุมชน  และยังเป็นที่ไว้วางใจของเจ้านายฝ่ายเหนือ ท่านจึงรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “กำนัน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และมีความสำคัญเป็นอย่างมากของทางราชการในขณะนั้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลความทุกข์สุขแก่ชาวบ้านในตำบลช้างคลาน โดยส่วนรวม    หลัง จากนั้นไม่นานท่านอุสมาน เมยายี ได้ถึงแก่กรรม มีลูกหลานที่คอยสืบสานเจตนารมณ์อันมั่นคงบนพื้นฐานหลักคำสอนของอิสลาม ให้คงอยู่สืบไป ยังคนรุ่นหลัง คือ แม่อุ้ยดำ (นางอาอีซะ)   แม่อุ้ยน้อย และแม่เรียม

         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ แม่เรียมและลูกหลาน  คือนายคำ  มะหะหมัด  ได้ช่วยกันเป็นกำลังสำคัญ  ในการก่อสร้างมัสยิดขึ้นใหม่ เพื่อรองรับสัปปุรุษ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ด้วยความร่วมมือของบุคคลสำคัญของชุมชน  ได้แก่  ท่านพญาผดุงกิจ  (บุตรของท่านซาฟัด  อาลี  ทันดอน) ซึ่งเป็นบุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งชุมชนมุสลิมช้างคลานรุ่นบุกเบิกร่วมกับท่าน อุสมาน  เมยายี  ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็น “ขุนศรีจันทร์ดร”    และ เป็นต้นตระกูลศรีจันทดร์ พ่อบุกชุ (ต้นตระกูล ศรีอรุณ) อารีม (ต้นตระกุล มูตีเมีย) โดยก่อสร้างมัสยิด ๑๐ ศอก ยาว ๒๖ ศอก มีระเบียงเป็นมุขอยูด้านหน้า

           ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒  ได้จดทะเบียนมัสยิด  อย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนด  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ คณะกรรมการและสัปปุรุษ ได้ทำการปรับปรุงอาคารมัสยิด ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง    โดยก่อสร้างเป็นอาคารแห่งใหม่  ที่มีอาณาบริเวณกว้างขว้างขึ้น  เนื่องจากสัปปุรุษ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ที่ดินทางทิศตะวันออกของมัสยิด  มูลนิธิอัลญามาลได้ซื้อจากเจ้าของเดิมและบริจาคให้มัสยิด  คุณจำนง  นา นา  ได้บริจาคที่ดินทางทิศเหนือ   ทำการก่อสร้างอาคารสถาบันการศึกษาอิสลาม ปัจจุบันมัสยิดช้างคลานมีที่ดินรวมทั้งสิน  ๑ ไร่  ๔๘ ตารางวา  มีอาคารถาวรรวมทั้งอาคารมัสยิด จำนวน  ๓  หลัง

             ลูกหลานชุมชนมุสลิมช้างคลานเชื้ออสายเบงกาลีปัจจุบัน มิได้ทำให้บรรพบุรุษ์ผิดหวัง  ส่วนใหญ่ก็ ตั้งใจทำมาหากินและศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านการศาสนา และสังคม มิได้น้อยหน้าของสังคมส่วนอื่น   ชุมชนแห่งนี้  ผลิตทั้งแพทย์ ครู อาจารย์ และนักวิชาการ ระดับด๊อกเตอร์ ที่มีชื่อเสียงหลายท่านทั้งในพื้นที่และระดับประเทศ   บางครอบครัว ประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จอยู่ในขั้นแนวหน้าของจังหวัด  รับใช้สังคมเมืองเชียงใหม่  สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องจวบถึงปัจจุบัน



         และที่สำคัญที่นี้ในอดีต ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของมุสลิมในพื้นที่แห่งนี้มี ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่คนแรกคือ ท่านศรีบุตร(มุฮัมหมัด ญะมาล) วารีย์ และท่านได้สร้างคุณูปการในหลาย ๆ ด้าน อันเป็นที่ยอมรับของสังคมเชียงใหม่ทั่วไป

            ย่านช้างคลานยังมีคงมีเสน่ห์ ดึงดูด นักท่องเที่ยว  ทั่วประเทศ ให้มาเยือน มีโรงแรมที่พักของมุสลิม มัสยิด ร้านอาหารรอบชุมชน หาอาหารฮาลาลกินง่าย โดยเฉพาะร้านน้ำชามีมากมายหลายร้านให้เลือกซึ่งถือได้ว่า เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสาร ของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานของภาครัฐ จะสับเปลี่ยนหมุนเวียน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับพี่น้องในพืนที่เสมอ

          ความรัก ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของพี่น้องมุสลิมในเชียงใหม่ ไม่ว่า ชาติพันธ์ใด ศาสนาใด ก็มิอาจทำให้ผู้คนมองเห็นความต่าง กลับอยู่ด้วยกัน บนฐานความรัก ความเข้าใจ  หากเราท่าน นำคำสอน การประพฤติ ปฏิบัติ ของท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ๊อลฯ)  มาอยู่ในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง ทุกสังคม ชุมชน ก็จะเห็นประกายแสงแห่ง สัจธรรมของอิสลาม ที่สามารถมเปลียนแปลงผู้คนจากญาฮีรียะฮฺ(ยุคมืด/ป่าเถือน) มาสู่ความศิวิลัยในกรอบของอัลอิสลาม อันจะนำมาซึ่งสันติสุขทั้งปวง........อินชาอัลลอฮฺ

ความคิดเห็น