การอพยพของชาวจีนมุสลิมเชื้อสายยูนนาน มาในจังหวัดเชียงใหม่

การอพยพของชาวจีนมุสลิมเชื้อสายยูนนาน *    
 การอพยพของชาวจีนมุสลิมเชื้อสายยูนนาน มาในจังหวัดเชียงใหม่
การอพยพของชาวจีนมุสลิมเชื้อสายยูนนาน *    
  ในจังหวัดเชียงใหม่มีมุสลิมที่มีเชื้อสายจีน ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน) นับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และปัจจุบันได้อาศัย กระจายตามที่ต่างๆ ของอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่มีมัสยิดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมจีน รวมทั้งหมด 7 มัสยิด ได้แก่ 
1. มัสยิดอัลเอี๊ยห์ซาน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง
2. มัสยิดอัลอีมาน ตั้งอยู่ในตัวอำเภอฝาง
3. มัสยิดอัลอักซอ ตั้งอยู่บนดอยอ่างขางตำบลแม่งอน อำเภอฝาง
4. มัสยิดอัสซะฮาดะฮ์ ตั้งอยู่หัวฝาย ตำบลโปร่งน้ำร้อน อำเภอฝาง
5. มัสยิดอัลเราะฮ์มะ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย
6. มัสยิดเฮดายาตูลอิสลาม (บ้านฮ่อ) ตั้งอยู่ย่านศูนย์การค้าไนท์บาซ่า อยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง
7. มัสยิดอัต-ตักวา ตั้งอยู่ย่านวัดเกต ซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ถนนหน้าวัดเกต ซอย 1 อำเภอเมือง ชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายชาวยูนนานนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้าที่เดินทางมาค้าขายบริเวณมณฑลยูนนาน เข้าสู่ประเทศพม่า ลาว และเข้าสู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย คนกลุ่มนี้จะถูกคนพื้นเมืองทางภาคเหนือเรียกว่าเป็นพวก “จีนฮ่อ” ซึ่งมีเอกลักษณ์ทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย (ที่มาของคำว่า “ฮ่อ” นั้นยังคงเป็นปริศนาและมีความซับซ้อนว่ามีที่มาจากที่ใด เพราะเหตุไรชาวยูนนานจึงถูกเรียกว่า “ฮ่อ” ทั้งที่ชาวยูนนานเองก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่า “ฮ่อ” ปัจจุบันยังมีนักวิชาการที่สนใจวิชาศึกษาและพยายามค้นหาต้นตอ และถกเถียงถึงที่มาของคำๆ นี้) (เจียแยนจอง, 2537)
 


ถึงแม้นว่าผู้อพยพชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทย จะถูกคนพื้นเมืองเรียกรวมๆ กันว่าเป็นพวก “จีนฮ่อ” แต่ชาวจีนฮ่อก็มีลักษณะที่หลากหลายแบ่งเป็นได้หลายกลุ่ม อพยพมาจากหลายส่วนของมณฑลยูนนาน ดังนั้นจึงมีพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป จากประวัติการอพยพถิ่นฐานแบ่งได้เป็นกลุ่มๆ ดังนี้ กลุ่มแรก กลุ่มพ่อค้าชาวยูนนาน เป็นกลุ่มคนที่เดินทางค้าขายในช่วงหน้าหนาวและหน้าแล้งโดยใช้ม้า-ล่อเป็นพาหนะ จากหลักฐานของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือของไทยในสมัยนั้น ได้กล่าวถึงกองคาราวานของพวกพ่อค้าชาวยูนนานที่เดินทางค้าขายไปมาระหว่างเทือกเขาต่างๆ จาก ยูนนานและจังหวัดในภาคเหนือของไทย (Hellet, 1890 และ Bock, 1884 อ้างใน Suthep Soonthornpasuch, 1977)
 มีบุคคลท่านหนึ่งในกลุ่มนี้ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกษัตริย์ไทย ทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง (ท่านขุนชวงเลียง ลือเกียรติ) เนื่องจากได้สร้างความเจริญและมีส่วนให้ความช่วยเหลือต่อคนส่วนรวม ท่านจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำของชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่และในภาคเหนือ

กลุ่มที่สอง :ในสมัยนั้นจากประเทศจีนเนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนปกครองโดยราชวงศ์เซ็ง ซึ่งดำเนินนโยบายบีบคั้นและทำการกดขี่ชาวจีนแมนดารินเป็นอย่างมาก จนในปี ค.ศ. 1856 มุสลิมชาวยูนนานทั้งหลายจึงได้รวมตัวกันต่อต้านพื้นที่แถบตะวันตกของมณฑลยูนนานและตั้งเมืองตาลีฟูเป็นเมืองหลวงของยูนนาน แต่ต่อมาภายหลังผู้นำมุสลิมคือสุลต่านชาวยูนนานชื่อ สุลัยมาน ถูกสังหารจึงทำให้ชาวมุสลิมถูกไล่ล่าสังหารอย่างโหดร้าย คนจำนวนนับพันถูกเข่นฆ่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มุสลิมชาวยูนนานเป็นจำนวนมากหลบหนีเข้าสู่ประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำสาละวิน
 กลุ่มที่สาม กลุ่มทหารกู้ชาติจีน   หลังจากการปฏิวัติประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในปี ค.ศ. 1949 ภายใต้การนำของท่านเหมาเจ๋อตุง ซึ่งถือว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) หรือพวกจีนคณะชาติ ทำให้ทหารกองพล 93 ของจีนคณะชาติต้องถอยร่นลงมาอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และต่อมาส่วนหนึ่งได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศไต้หวัน อีกส่วนหนึ่งปักหลักอยู่ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งรัฐบาลได้จัดสถานที่เป็นศูนย์ผู้อพยพอยู่ประมาณ 50 กว่าศูนย์ทั่วภาคเหนือ
กลุ่มที่มีบทบาทและเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวมุสลิมเชียงใหม่ คือ กลุ่มของท่าน นะปะซาง (พ่อเลี้ยงเลานะ) ได้เข้ามาตั้งแคมป์อยู่บริเวณทุ่งเวสาลี ฝั่งตะวันออกของถนนโชตนา เมื่อพี่น้องมุสลิมมีจำนวนมากขึ้น ทั้งชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายปากีสถานและชาวยูนนาน ท่านพ่อเลี้ยง เลานะจึงเป็นผู้นำสำคัญในการก่อสร้างมัสยิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าวเรียกว่า “มัสยิดช้างเผือก”
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กระแสคลื่นของผู้อพยพชาวจีนยูนนานยังคงหลั่งไหลมาโดยไม่ขาดสายเป็นระลอกๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2430 กลุ่มของท่านเจิงชงหลิ่งได้เดินทางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของเจ้าอินทนนท์กำลังปกครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น ท่านเจิ้งชงหลิ่งเป็นผู้นำคนสำคัญยิ่งของชาวยูนนานมุสลิมที่ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมพารในประเทศไทย ท่านได้มีบทบาทในการสร้างหลักปักฐานให้กับชุมชนมุสลิมยูนนานและเป็นแกนนำในการสร้างมัสยิดบ้านฮ่อ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสนองคุณแผ่นดินในการสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าให้กับกิจการของทางราชการต่างๆ จนได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น ขุนชวงเลียง ลือเกียรติ  

ที่มา บรรณานุกรม หนังสือครบรอบ 80 ปี มัสยิดบ้านฮ่อ,2539*สุชาติ เศรษฐมาลินี -สุเทพ สุนทรเภสัช. ชาติพันธ์: แนวคิดพื้นฐานทางมานษยวิทยาในการศึกษาอัตลักษณ์ กลุ่มชาติพันธ์ กรุงเทพฯ: ส.น.พ. เมืองโบราณ (ลอกข้อความ) **

ความคิดเห็น