สสม.เหนือ ร่วม มัสยิด นูรุตตักวา แม่ฮ่องสอน จัดโครงการมัสยิดครบวงจร

สสม.เหนือ ร่วม มัสยิด นูรุตตักวา แม่ฮ่องสอน จัดโครงการมัสยิดครบวงจร








๒๕ มิถุนายน ๕๔ ที่มัสยิดนูรุตตักวา แม่ฮ่องสอน สสม.เหนือ นำโดย นท.สมคิด ลัทธิ ศักดิ นำทีม ไปร่วมกิจกรรมพัฒนา ปรับภูมิทัศน์ เพื่อร่วมโครงการมัสยิดครบวงจร มัสยิดปลอดบุหร่ มี อีหม่ามอุสมาน น้อยสกุล ผู้ประสานงาน ได้รับเกียรติ์จาก พีรญา มงคลนัฏ วัฒนธรรมจังหวัด นางสมหมาย พิพัฒน์ธงชัย รองนายกเทศมนตรี และนางบานเย็น ไชยสุรินทร์ ประธานชุมชนบ้านปางล้อ และ น.ศ.ร่วมโครงการ มีอุสตาสอาชิร ภิไรงาม ให้ความรู้ศาสนา โครงการสนับสนุนโดย โครงการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย




โครงการมัสยิดครบวงจร เป็นารต้องการจุดประกายให้มัสยิดต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เกิด แนวคิด การพัฒนา ในรูปแบบ
ให้มัสยิดมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการจัดการบริหารชุมชน ในทุก ๆ ด้าน ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ได้กล่าวเกี่ยวกับบทบาทของมัสยิดโดยได้คัดมาบางส่วน เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้บริหารมัสยิด ได้คิด และจัดการบริหารมัสยิดของตนเองดังนี้
มัสยิดเป็นองค์กรที่สำคัญยิ่งในอิสลาม เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์และพัฒนามุสลิมให้เป็นมุอ์มินที่สมบูรณ์ มัสยิดตั่งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนมุสลิม และเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง และความเสื่อมถอยของชุมชนนั้นๆ ได้อย่างดี การให้ความสำคัญกับมัสยิดในฐานะองค์กรพัฒนาชุมชน ชุมชนมุสลิมในปัจจุบันควรหันมาให้ความสำคัญกับองค์กรมัสยิดไม่ใช่ในฐานะแค่เพียงเป็นสถานที่ละหมาดเท่านั้น แต่ในฐานะขององค์กรที่จะต้องมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆตามศาสนบัญญัติอีกด้วย


อัลกุรอานได้นำเสนอว่าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และการพัฒนา عِماَرَة ทั้งด้านกายภาพ และจิตภาพ ซึ่งอัลกุรอานได้ระบุคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวไว้ในพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า:
} إِنَّمَا يَعْمُرُ مَسَاجِدَ اللّهِ مَنْ آمَنَ بِاللّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاَةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إِلاَّ اللّهَ فَعَسَى أُوْلَئِكَ أَن يَكُونُواْ مِنَ الْمُهْتَدِينَ {
“แท้จริงผู้ที่จะพัฒนาบรรดามัสยิดของอัลลอฮนั้นคือ:
1.) ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮฺ
2.) และได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด
3.) และได้ชำระซะกาต
4.) และเขาไม่ยำเกรงผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น


ดังนั้นจึงหวังได้ว่าชนเหล่านี้จะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้รับคำแนะนำ (อัตเตาบะฮฺ 18)



บทบาทของมัสยิดในปัจจุบันต่อการพัฒนาชุมชน
เมื่อหันมาดูบทบาทของมัสยิดในปัจจุบัน พบว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการที่สามารถทำให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนได้ เช่น ปัจจัยทางด้านกฎหมายที่กำหนดให้มัสยิดเป็นนิติบุคคล ปัจจัยทางด้านบุคลากรในชุมชน และคณะกรรมการมัสยิด ที่มีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น ปัจจัยด้านข้อมูลข่าวสารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบทบาทของมัสยิดที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนี้ บทบาทในการส่งเสริมการศึกษา



มัสยิดในปัจจุบันควรจะมีการประสานงานในเชิงรุกกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ อาทิเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อ.บ.ต.องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อ.บ.จ. สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอ สภาจังหวัด และกรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อขอรับการสนับสนุนในกิจการต่างๆ ด้านส่งเสริมการศึกษา และนันทนาการ เช่นโครงการค่ายอบรมเยาว์ชนภาคฤดูร้อน โครงการอบรมแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการลานกีฬา และเพื่อสนับสนุนในด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำ และโทรศัพท์สาธารณะ เป็นต้น มัสยิดควรจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของรัฐในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเริ่มต้นที่มัสยิดเป็นตัวอย่าง ทำให้บริเวณมัสยิดมีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น สะอาด และเจริญหูเจริญตา เป็นบริเวณปลอดบุหรี่ ปลอดอบายมุขและสิ่งมึนเมา และปลอดจากสิ่งต้องห้ามทั้งปวงตามศาสนบัญญัติ


บทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชน

ปัญหาของชุมชนมัสยิดอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.) ปัญหาอาชญากรรม
2.) ปัญหายาเสพติด และอบายมุขอื่นๆ
3.) ปัญหาความแตกแยก และการทะเลาะวิวาท
ปัญหาเหล่านี้มัสยิดจะต้องมีบทบาทโดยตรงในการป้องกันและในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยใช้กระบวนการที่สำคัญดังนี้
1) การให้การศึกษาและอบรมสั่งสอน


มัสยิดจะต้องให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนแก่ปวงสัปปุรุษอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงบุคคลได้ง่าย สื่อที่สำคัญคือ
ก. คุตบะฮฺวันศุกร์
ควรเป็นคุตบะฮฺที่นำเสนอปัญหาของชุมชนมัสยิด และควรให้สัปปุรุษทุกคนได้ตระหนักถึงการรับผิดชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของชุมชน เนื่องจากการลงโทษของอัลลอฮ์ในโลกดุนยาแก่คนที่ไม่ดีนั้นจะครอบคลุมคนดีด้วย มัสยิดควรแบ่งเขตชุมชนและมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนมีหน้าที่สอดส่องดูแลในเขตที่รับผิดชอบ
ข. เสียงตามสาย
มัสยิดควรมีเสียงตามสายเพื่ออะซานบอกเวลาละหมาด และเพื่อประชาสัมพันธ์กิจการต่างๆของมัสยิด นอกเหนือจากนั้นแล้ว มัสยิดควรใช้เสียงตามสายให้เกิดประโยชน์ในด้านการอบรมสั่งสอน การแนะนำและการตักเตือน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชน การใช้เสียงตามสายควรคำนึงถึงความเหมาะสมในหลายๆด้าน เช่น ช่วงระยะเวลาของการใช้ และความหลากหลายของชุมชนที่มีผู้นับถือศาสนาแตกต่างกัน เป็นต้น
ค. การเยี่ยมเยียนเป็นรายบุคคล
การเยี่ยมเยียนสัปปุรุษที่มีปัญหาเป็นรายบุคคล หรือเรียกมาพูดคุยที่มัสยิด หรือที่บ้าน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้อมปรามและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ ดังนั้นอีหม่าม และคณะกรรมการมัสยิดจึงควรมีเวลาสำหรับภารกิจนี้




การทำสัตยาบันร่วมกัน(บัยอะฮ์)

มัสยิดควรให้มีสัตยาบันร่วมกันระหว่างสัปปุรุษในชุมชนทั้งโดยวาจา และลายลักษณ์อักษร เรียกในภาษาอาหรับว่าการทำบัยอะฮฺ (بَيْعَة) รูปแบบของบัยอะฮฺนี้ก็คือการร่างคำบัยอะฮฺเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้สัปปุรุษทุกคนในชุมชนได้ลงลายมือ และกล่าวเป็นวาจาพร้อมๆกัน โดยมีอีหม่ามเป็นผู้นำกล่าว สำหรับหัวข้อของบัยอะฮฺควรประกอบด้วย สามส่วนคือ 1. เรื่องที่จะต้องปฏิบัติ 2. เรื่องที่จะต้องออกห่างและต่อต้าน และ 3. บทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดบัยอะฮฺ ทั้ง 3 หัวข้อนี้จะต้องครอบคลุมส่วนเฉพาะบุคคล และส่วนรวม การทำบัยอะฮฺนี้มัสยิดจะต้องให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในแง่ของการลงโทษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามและแก้ไขปัญหาของชุมชน
สำหรับปัญหาความแตกแยกและการทะเลาะวิวาทนั้น มัสยิดควรใช้วิธีการไกล่เกี่ลย และประนีประนอม แต่หากเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนา มัสยิดควรจะต้องมีจุดยืนที่แน่นอน และไม่ควรสนับสนุนให้มีการถกเถียงกันในปัญหาคิลาฟียะฮฺ อันจะนำไปสู่ความแตกแยกและความร้าวฉานในชุมชนได้


บทบาทในด้านสวัสดิการชุมชน

มัสยิดในปัจจุบันควรจะมีบทบาทในด้านสวัสดิการชุมชน โดยการจัดตั้งกองทุนอย่างน้อย 2 กองทุน คือ
1.) กองทุนการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้
2.) กองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการชุมชน
กองทุนการกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้นั้นเป็นกองทุนจากการบริจาคทั่วๆไป ของผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือ และสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในชุมชน เช่น ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย อัคคีภัย และภัยอื่นๆ ผู้พิการและทุพลภาพ เด็กกำพร้าและแม่หม้ายที่ขาดผู้ดูแลและช่วยเหลือ หรือสงเคราะห์ในการจัดการศพที่ไร้ญาติและขาดแคลนทรัพย์เป็นต้น
สำหรับกองทุนซะกาตเพื่อสวัสดิการสังคมนั้น เป็นกองทุนที่ได้จากการจ่ายซะกาตของสัปปุรุษในชุมชนและที่อื่นๆ กองทุนทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือเป็นตัวแทนเพื่อนำซะกาตไปมอบให้แก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตตามศาสนบัญญัติที่อยู่ในชุมชน

อย่างไรก็ตามหากมัสยิดสามารถระดมเงินซะกาตจากผู้มีฐานะในชุมชนหรือที่อื่นๆได้ มัสยิดก็จะสามารถหยิบยื่นสวัสดิการให้กับชุมชนได้ ตัวอย่างเช่น สวัสดิการการศึกษา ซึ่งเป็นสวัสดิการที่สำคัญในปัจจุบัน มัสยิดสามารถที่จะมอบเงินซะกาตให้กับลูกหลานของสัปปุรุษในชุมชนที่เรียนดีแต่ขลาดแคลนให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นชุมชนก็จะมีนักเรียนทั้งภาคศาสนาและภาคสามัญได้เรียนต่อด้วยทุนซะกาตของมัสยิด บุคคลเหล่านี้เมื่อจบการศึกษาก็จะมีความรู้สึกผูกพันกับมัสยิด เขาจะรู้สึกว่ามัสยิดสร้างเขา เขาก็จะต้องสร้างมัสยิดเพื่อเป็นการตอบแทน ระบบนี้ก็จะทำให้มัสยิดมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยอนุมัติจากอัลลอฮ์



มัสยิดในยุคปัจจุบันคงจะมิใช่เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นสถานที่เอนกประสงค์ที่กิจกรรมทุกอย่างมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮ์ เพื่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ และเพื่อเชิดชูศาสนาของอัลลอฮ์ บทบาทของมัสยิดที่พึงประสงค์เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการมัสยิด ที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และพระประสงค์อันยิ่งใหญ่แห่งเอกองค์อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขออัลลอฮ์ได้ทรงประทานทางนำและความสำเร็จแก่ผู้บริหารมัสยิดและแก่พี่น้องมุสลิมทุกคน อามีน
โครงการมัสยิดครบวงจร มัสยิด นูรุตตักวา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน สนับสนุนงบประมาณโดย โครงการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย มูลนิธิ สร้างเสริมสุขมุสลิมไทย สสม.






ศูนย์ประสานงานภาคเหนือ โครงการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย
ภาพและรายงานโดย นายชุมพล ศรีสมบัติ

ความคิดเห็น